เราจะอยู่รอดในยุค AI กำลังจะครองเมืองได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ข้อมูลจากบทความเรื่องนี้มาจากบทความชื่อว่า 10 skills you’ll need to survive the rise of automation ที่เขียนโดย Jeff Desjardins ที่เป็น Founder และ editor ของ Visual Capitalist ซึ่งเขาก็นำข้อมูลมาจากหลายแหล่ง แต่ผมเอามาสรุปแบบง่าย ๆ ว่า เราควรมีทักษะอะไรบ้างภายในปี 2020 ที่จะทำให้เรายังสู้กับ AI ได้

แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น ถามว่าแล้ว AI คืออะไร แล้วทำไมต้องไปสู้กับ AI

AI ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence หรือแปลเป็นไทยว่าปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งว่ากันว่า จะเริ่มเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขั้นต้น AI ก็จะเริ่มมาทดแทนงานง่าย ๆ ก่อน ประเภทที่ว่าไม่ต้องใช้การตัดสินใจอะไรซับซ้อน แต่ต่อมา AI จะถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ และก็จะมาทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเรายังอยากไม่ตกยุค เราจึงควรจะต้องเพิ่มทักษะของตัวเองให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้น เราอาจจะถูกทดแทนโดย AI ได้ และนี่คือทักษะที่เราควรจะมีในปี 2020

1. ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex problem solving)

เช่นการมองข้ามอุตสาหกรรม หรือการหาทางออกของปัญหา ที่มันยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

2. มีความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)

คือความคิดที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจ (อันนี้คิดว่าคงยากหน่อย เพราะ AI มันมีจุดแข็งตรงนี้เช่นกัน) แต่เราอาจจะใช้การตีความต่าง ๆ เข้ามาช่วยได้

3. มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ก็อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ครับ คือความคิดใหม่ ๆ ต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้ ถ้าเรามีตรงนี้อยู่ AI ก็อาจจะยังไม่สามารถทดแทนเราได้อย่างสมบูรณ์

4. มีทักษะในการจัดการคน (People management)

อันนี้แหละครับ ที่เราจะชนะ AI ได้ เพราะผมเชื่อว่าคนยังอยากคุยกับคนอยู่ เช่นลักษณะของความเป็นผู้นำที่จะช่วยกระตุ้นให้คนฮึกเหิม แบบนี้ AI ทำได้ยากหน่อย สู้คนไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีทักษะตรงนี้ด้วย

5. ทักษะในการประสานงานกับคนอื่น (Coordinating with others)

อันนี้ก็จะเป็นจุดแข็งของเราเช่นกันครับ ใครที่สามารถ connect คนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะมีจุดเด่น ซึ่ง AI อาจจะทำได้ยังไม่ดีเท่ากับคน

6. มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence)

อันนี้ก็เป็นอีก Area หนึ่ง ที่คนยังน่าจะทำได้ดีกว่า AI เช่นการสร้างความเห็นอกเห็นใจ หรือการสร้างความกระหายที่จะเรียนรู้ พวกนี้ ถ้าเรามีอยู่ AI ก็น่าจะยังสู้เราไม่ได้

7. ความสามารถในการตัดสินใจ (Judgment and decision making)

ถึงแม้ว่าอันนี้มันเป็นจุดแข็งอันหนึ่งของ AI แต่หลาย ๆ งาน บางทีเราจะตัดสินใจผ่านข้อมูลอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ เช่น เราจะแต่งงานกับใคร แบบนี้ AI อาจจะเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบเรื่องการศึกษา Life style แต่ลึก ๆ ความชอบที่มันมาจากจิตใต้สำนึก มันอาจจะยังเข้าไม่ถึง ตรงนี้เราน่าจะยังเหนือกว่าอยู่ แต่ก็ต้องพัฒนาตนเองนะครับ

8. ความสามารถในการบริการ (Service orientation)

ลองนึกภาพว่าเราจะไปสปา เราอยากจะให้ใครนวดระหว่างเครื่องจักรกับคน ใช่ครับ บางทีเครื่องจักรมันอาจจะนวดได้ดีกว่า แต่สุดท้ายแล้ว มันคุยกับเราไม่ได้ (หรือคุยได้ก็ยังเป็นแบบหุ่นยนต์) มันยังหัวเราะไม่ได้ ตรงนี้คนน่าจะเหนือกว่าอยู่ แต่เราก็ต้องฝึกให้มีทักษะด้านนี้ เพราะถ้าไปถึง มีแต่หน้าตาบูดบึ้ง คนก็อาจจะเลือกเครื่องจักรก็ได้นะครับ

9. ทักษะในการต่อรอง (Negotiation)

ใช่ครับ AI มันอาจจะช่วยหาจุดที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่ายได้ แต่สุดท้ายบางที การต่อรองมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์แบบนั้น มันมีศิลปะอีก เช่น คนนี้ เราสนิทกัน ถึงเราจะเสียเปรียบเรื่องนี้ แต่มิตรภาพระยะยาวยังอยู่ ตรงนี้ AI อาจจะยังเข้าไม่ถึง การต่อรองอาจจะต้องใช้คนอยู่

10. ความยืดหยุ่นในความคิด (Cognitive flexibility)

คือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น เรากำลังเจอปัญหาแบบนี้ เราต้องทำตัวแบบนี้ คนกำลังทะเลาะกัน อย่าเพิ่งเอาเหตุผลไปอธิบาย ต้องให้เขาเย็นลงก่อน แล้วเหตุผลจึงค่อยมา อะไรแบบนี้ ตอนนี้คนเรายังเหนือกว่า

ลองดูนะครับ พัฒนาตัวเองตอนนี้ได้ ยังไม่สายเกินไปครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

AI จะทำให้ชีวิตเราแย่จริง ๆ หรือ

ระยะหลัง ผมมักจะเห็นบทความ หรือแม้กระทั่งเขียนบทความเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence” หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า AI ในมุมมองที่ว่า AI จะทำให้อาชีพหลายอาชีพหายไป และอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเราควรจะเตรียมพร้อม ก็เลยทำให้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า แย่แล้ว จะทำอย่างไรดี เลยขอมาให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI ครับ

ใช่ครับ AI มันจะทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลง แต่มันจะทำให้ชีวิตเราแย่ลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเรามองในมุมมองของใคร เอาง่าย ๆ นะครับ ขอยกตัวอย่างธนาคารก็แล้วกัน แต่ก่อน ธนาคารมีการขยายสาขาไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าให้ทั่วถึงที่สุด เมื่อมีสาขามาก ก็มีการจ้างงานจำนวนมาก

แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนอะไรหลาย ๆ อย่างได้ จากที่ต้องมีสาขาเยอะ ก็ไม่จำเป็น เนื่องจากเกือบทุกคนมี Smartphone ซึ่งสามารถ Load application เกี่ยวกับการเงินได้ แปลว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่จำเป็นต้องไปใช้บริการสาขา ก็หมายความว่า ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขามากเหมือนเดิม

ตรงนี้แหละครับ ที่จะเห็นชัดเจนว่าเทคโนโลยีมันทำงานแทนคนได้ ถ้ามองในมุมมองของพนักงาน แน่นอน ในระยะสั้นนั้นมันส่งผลกระทบโดยตรงกับเขา เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เขาออกจากงาน คนก็เลิกตื่นตระหนกกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี หรือ AI ต่าง ๆ เหล่านี้ ที่จะมาทดแทนเขา

แต่ถ้าเรามองในมุมของธนาคาร สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสาขาจำนวนมาก ไม่ต้องจ้างคนเยอะแยะ แน่นอนต้นทุนจึงลดลงมาก ซึ่งทำให้กำไรธนาคารเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แบบนี้ต้องบอกว่าเทคโนโลยี หรือ AI น่าจะทำให้ธนาคารดีขึ้นด้วยซ้ำ

ถ้าเช่นนั้น แปลว่า AI จะช่วยผู้ประกอบการ แต่จะทำร้ายพนักงาน อย่างนั้นหรือ

ผมว่า ระยะสั้น อาจจะออกมาในมุมนั้น แต่ระยะยาว ผมว่าไม่ใช่ ผมว่า AI จะช่วยทุกฝ่ายครับ (อันนี้ยกเว้นกรณีที่ AI มันฉลาดมากเกินไป แล้วมันครองโลกแบบหนัง Sci-Fi นะครับ อันนั้น คิดว่าคงชัดเจนว่า AI อาจเป็นอันตรายกับมนุษย์)

การมาของ AI มันก็เหมือนกับการเกิดขึ้นของเครื่องจักรในอดีตนั่นแหละครับ อย่างแต่ก่อน เกษตรกร จะทำไร่ ทำนา ก็ต้องใช้แรงงานตัวเอง หรืออย่างมากก็แรงงานสัตว์ ก็สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ระดับหนึ่ง ต่อมามีการสร้างเครื่องจักร มาทดแทนแรงงานคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนก็ทำงานน้อยลง แต่ผลผลิตทางการเกษตร กลับเพิ่มสูงขึ้นมาก

ใหม่ ๆ คนที่เคยรับจ้างทำไร่ ทำนา อาจจะตกใจว่า อ้าว แล้วใครจะมาจ้างเรา แต่ระยะยาว เขาเหล่านั้นก็ปรับตัว เช่น ก็ไปซื้อเครื่องจักรเหล่านั้น มาทำไร่ ทำนาของตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าชาวไร่ ชาวนา สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น ในขณะที่ตัวเขาเองทำงานน้อยลง

ผมว่า AI จะมาในลักษณะเดียวกัน ในระยะแรกพวกงาน Routine ต่าง ๆ ที่บางทีเราต้องใช้คน ใช้เวลาจำนวนมาก ก็ให้ AI ทำ คนอาจจะทำงานน้อยลง แต่ผลงานอาจจะมากขึ้น ไม่แน่นะครับ ต่อไปคนอาจจะทำงานแค่สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เหมือนหนังสือชื่อดังคือ 4-Hr Workweek ซึ่งเป็นเรื่องปกติไปเลยก็ได้

เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แหละครับ แต่ผมคิดว่าเราคงหลบ AI ไปไม่ได้ แน่นอนระยะสั้น คนที่ทำงานที่มีความเสี่ยงในการโดน AI ทดแทนสูง ก็ต้องเตรียมพร้อม แต่ในระยะยาว ผมเชื่อว่า AI จะช่วยมนุษย์ได้มากมาย เหมือนกับเครื่องจักรเคยช่วยเรามาแล้ว

ในฐานะผู้บริโภค ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

ยิ่ง (คิดว่า) รู้มาก ยิ่ง (อาจจะ) รู้น้อย

เคยเจอคนทำนองนี้ไหมครับ ประเภทที่ว่า “รู้อะไร ไม่สู้ รู้ทุกเรื่อง” แบบถามอะไรตอบได้หมด รู้ไปหมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ อย่างไม่ได้อยู่ในความเชี่ยวชาญของเขาเลย และหลายครั้ง คำตอบที่บอกก็ผิดอีกต่างหาก แต่เขาตอบอย่างมั่นใจมาก ๆ มากจนกระทั่งบางที เราคิดว่า เขาเอาความมั่นใจมาจากไหนกันเนี่ย

แรก ๆ ผมก็คิดว่า เขาคงอายมั้งที่จะตอบว่าไม่รู้ เลยต้องมั่ว ๆ ไป แต่หลัง ๆ พอเจอบ่อย ๆ เอ บางเรื่องนี่พูดออกมาเองเลย ไม่ได้มีคนถามด้วย แล้วแบบมั่นใจมาก ๆ อีกต่างหาก เอ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้นะ

ตรงกันข้าม พอได้ไปคุยกับคนเก่งมาก ๆ กลับพบว่า เขาเหล่านั้น ไม่เคยพูดเลยว่า ผมเก่งเรื่องนั้น เก่งเรื่องนี้ ออกจะมาแนวว่าเขาไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไรหรอก บางทีดูเหมือนจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองด้วยซ้ำ แรก ๆ ก็คิดว่าเขาคงถ่อมตัว แต่เจอหลาย ๆ ครั้ง ก็สังเกตว่า เขารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ

อะไรกัน คนไม่เก่งกับมั่นใจคิดว่าตัวเองเก่งมาก ขณะที่คนเก่งมาก กลับคิดว่าตัวเองไม่ค่อยเก่ง

ปรากฏว่ามีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้เลยครับ ปรากฏการณ์นี้เขาเรียกว่า Dunning–Kruger effect ซึ่งคิดค้นโดย David Dunning และ Justin Kruger นักจิตวิทยาสังคมทั้งสองท่าน โดยปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ง่าย ๆ แบบนี้ครับ คือคนไม่เก่งนั้น เนื่องจากเขาไม่รู้เยอะ เขาก็เลยคิดว่าสิ่งที่เขารู้มันเยอะแล้ว เขาเลยมั่นใจมาก ๆ ในทางกลับกัน คนที่เก่งมาก ๆ เนื่องจากเขารู้เยอะมาก จึงทำให้เขารู้ว่า ยังมีอะไรอีกมากที่เขายังไม่รู้

อ่านแล้วงงไหมครับ 555

เอางี้ ครับ ในโลกนี้ ความรู้มันก็มี 2 อย่างเท่านั้น คือสิ่งที่เรารู้ กับ สิ่งที่เราไม่รู้ จริงไหมครับ

คราวนี้ อันไหนมันมากกว่ากันล่ะครับ คำตอบคือ ก็สิ่งที่เราไม่รู้ไง สิ่งที่เรารู้มันน้อยกว่าอยู่แล้ว เราจะไปรู้มากกว่าไม่รู้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโลกเรามันกว้างใหญ่ไพศาล องค์ความรู้ต่าง ๆ มันมีมากมายเต็มไปหมด

คราวนี้คนเก่งกับคนไม่เก่งต่างกันตรงไหน

คนไม่เก่ง คือคนที่รู้ไม่เยอะ คนกลุ่มนี้ มี 2 ประเภทครับ คือ ประเภทแรกคือรู้ไม่เยอะ แล้วรู้ตัวเองว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องเรียนรู้ คนเหล่านี้ ก็เป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปครับ เขาก็ถ่อมตัวด้วยความไม่รู้ของเขา คนเหล่านี้ มีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้อีก

แต่คนไม่เก่งอีกประเภท ซึ่งเป็นประเภทที่กำลังเขียนถึงนี่แหละครับ คนไม่เก่ง แล้วยังไม่รู้อีกว่า ตัวเองไม่เก่ง ยังรู้น้อย แต่ดันเข้าใจว่า ไอ้ที่รู้อยู่เนี่ย คือความรู้ทั้งหมดแล้ว แบบนี้แหละครับ ที่เป็นประเภทที่ไม่เก่ง แต่มั่นใจมาก ๆ แบบนี้ แย่กว่าแบบแรกนะครับ คือนอกจากไม่เก่งแล้ว อาจจะไม่พัฒนาด้วยต่างหาก เพราะคิดว่าตัวเองรู้นี่แหละ

คราวนี้มาถึงคนเก่งบ้าง คนเก่งก็มี 2 ประเภทเหมือนกัน ประเภทแรกคือ คนเก่งที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว คนเก่งแบบนี้ก็มีครับ แต่ไม่ค่อยมากนัก เพราะปกติแล้วพอคนที่รู้เยอะ ๆ เข้า เขาจะเริ่มเข้าใจว่า ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่เขายังไม่รู้ แต่ก็อาจจะมีเหมือนกันที่ พอรู้อะไรมาก ๆ เข้า มีคนมาเยินยอ จนกระทั่งคิดเองว่า เรานี่แหละสุดยอดแล้ว เมื่อไรก็ตามที่คิดแบบนี้ คนเก่งเหล่านั้น จะหยุดการพัฒนา ผมมักจะบอกว่า วันไหนที่เราคิดว่าเราเก่งที่สุดแล้ว วันนั้นแหละครับ คือขาลงของเราแล้ว เพราะเราจะไม่รับฟังอะไรใหม่ ๆ แล้ว เพราะเราคิด (ไปเอง) ว่าเราเก่งสุด ๆ แล้ว

คนเก่งประเภทที่ 2 ที่เจออยู่บ่อย ๆ คือเขาเก่งมากจนกระทั่งเขารู้ว่า เขายังไม่รู้อะไรอีกมาก คือพอคนเก่งมาก ๆ ระดับหนึ่ง เขาจะรู้ขอบเขตขององค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้วยิ่งทำให้เขาพบว่า สิ่งที่เขารู้นั้น มันน้อยมาก เทียบกับสิ่งที่เขายังไม่รู้ คนเก่งกลุ่มนี้ จะยิ่งเก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะเขาจะไม่หยุดเรียนรู้เลย

สรุปง่าย ๆ ว่า การเป็นคนเก่งไม่ใช่สิ่งผิด แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ อย่ารู้สึกว่าเราเก่งมาก ๆ ก็พอครับ เพราะถ้ารู้สึกแบบนั้นตลอด ไม่ว่าเราจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เราจะหยุดเรียนรู้ทันที และเมื่อเราหยุดเรียนรู้ สุดท้าย ถ้าเราเก่งอยู่ เราก็ได้แค่นั้นแหละครับ และยิ่งแย่กว่านั้นคือ ถ้าเรายังไม่เก่งอยู่แล้ว เราจะยิ่งไม่เก่งต่อไปเรื่อย ๆ (ถึงแม้ว่าจะคิดว่าตัวเองเก่งก็เหอะ 555) ระวังกันให้ดีนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ความลำเอียงกับสถานะปัจจุบัน (Status Quo Bias)

ปกติผมสอนวิชาที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ และผมก็มักจะพบว่าคนเราตัดสินใจหลาย ๆ อย่าง ที่ดูเผิน ๆ เร็ว ๆ แล้วก็ดูเหมือนว่ามีเหตุผลสมควร แต่พอมาพิจารณาอีกที ก็จะพบว่า เอ นี่เราไม่มีเหตุผลนี่หว่า (อันนี้รวมตัวผมด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าผมจะดีไปกว่าคนอื่นแต่ประการใด)

แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลายครั้ง ตัวเราก็คิดว่าเรามีเหตุผลครับ ถึงจะมีคนมาแย้งก็ตาม เพราะเรามักจะเอาเหตุผลมาอธิบายการตัดสินใจของเราได้เสมอ เรียกว่า จริง ๆ แล้วเหตุผล มาหลังการตัดสินใจครับ

ผมอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพบว่าการตัดสินใจเรามันมีหลุมพรางจำนวนมหาศาลทีเดียว แต่ที่จะมาชวนคุยวันนี้คือหลุมพรางที่เรียกว่า Status Quo Bias ครับ

เอ เจ้า Status Quo Bias มันคืออะไร อธิบายง่าย ๆ ไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมาก เดี๋ยวจะปวดหัวกันซะก่อน คำว่า Status Quo มันก็คือสถานะปัจจุบันของเราครับ คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง เรียกง่าย ๆ ว่าเรามักจะชอบสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั่นแหละครับ ถ้าจะให้เปลี่ยน สิ่งที่เราจะเปลี่ยนมันต้องดีกว่าเดิมมาก ๆ

จริง ๆ หนังสือในต่างประเทศก็มีการทดลองกันมามากทีเดียว แล้วผลมันก็ยืนยันสิ่งนี้ แต่ในฐานะนักวิจัย ไม่ลองทำเอง มันก็ไม่สนุกจริงไหมครับ 555

เนื่องจากส่วนตัวชอบกีฬาฟุตบอลมาก ก็เลยขอลองกับกีฬานี้แหละ เผอิญช่วงที่กำลังเขียนเรื่องนี้ ในวงการฟุตบอลกำลังมีข่าวว่าทีมบาร์เซโลน่า ทีมฟุตบอลชั้นนำของสเปน กำลังสนใจในตัวคูตินโญ่ กองกลางระดับโลก ที่อยู่ทีมลิเวอร์พูล และมีข่าวว่าจะยื่นซื้อนักเตะคนนี้ด้วยค่าตัว 127 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ ทีเดียว

ผมก็เลยได้โอกาส เลยไป Post Facebook ถามแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล 3 คำถาม ดังต่อไปนี้

  1. ถ้าได้เงิน 127 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลควรขายคูตินโญ่ไหม

  2. ถ้าสมมุติว่าตอนนี้ไม่มีคูตินโญ่ในทีม แล้วมีเศรษฐีคนหนึ่ง ยื่นข้อเสนอ 2 อย่างให้ทีมลิเวอร์พูล คือ เอาตัวคูตินโญ่ไป หรือไม่ก็ เอาเงิน 127 ล้านปอนด์ ไป ท่านคิดว่าควรจะเลือกอันไหน

  3. ถ้าสมมุติว่าตอนนี้ไม่มีคูตินโญ่ในทีม แต่ทีมมีเงิน 127 ล้านปอนด์ และทีมสามารถซื้อคูตินโญ่ได้ ควรจะเอาเงิน 127 ล้านปอนด์ซื้อคูตินโญ่ไหม

เอาล่ะครับ ขอบอกไว้ตรงนี้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่งานวิจัยวิชาการ เพื่อตีพิมพ์ใน International Journal อะไรแบบนั้นนะครับ คำถามเหล่านี้ ยังมีจุดอ่อนอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่นยังบอกรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ได้ลงลึก ครบถ้วนหมดทุกอย่าง แต่อยากทำเพื่อทดลองปรากฏการณ์นี้เล่น ๆ เท่านั้น

ต้องขอบคุณคนตอบมาก ๆ ครับ วันเดียวมาตอบกันถึง 37 คน (และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ) แต่ผลมันออกมาคล้าย ๆ เดิม เลยเอาข้อมูลมาเล่าให้ฟังก่อนครับ

หลายคนก็ตอบตามความรู้สึก และผมบอกเลยนะครับว่า ไม่มีคำตอบผิด หรือ ถูก มันเป็นความรู้สึกของผู้ตอบเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้ครับ

ในข้อที่ 1 มีคนเลือกคูตินโญ่ (คือไม่ขายคูตินโญ่) 70.3%  เลือกจะรับเงิน 127 ล้านปอนด์ (คือขายคูตินโญ่) แค่ 29.7%

ในข้อที่ 2 มีคนเลือกคูตินโญ่ เพียง 29.7% และกลายเป็นว่าเลือกรับเงิน 127 ล้านปอนด์ เป็น 70.3%

ในข้อที่ 3 มีคนเลือกคูตินโญ่ (คือซื้อคูตินโญ่) เหลือเพียง 5.4% และเลือกเก็บเงิน 127 ล้านปอนด์ที่มีไว้เอาไปใช้อย่างอื่น สูงถึง 94.6%

แล้วยังไง มีอะไรที่แปลก อย่างนี้ครับ คือคำถามทั้งสามข้อนั้น มันเป็นคำถามที่ให้เราประเมินทางเลือกระหว่าง คูตินโญ่ กับ เงิน 127 ล้านปอนด์ ว่าอันไหนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสโมสรใช่ไหมครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่คำถามทั้ง 3 คำถามมันแตกต่างกันคือ Status Quo หรือสถานะปัจจุบันที่เป็นอยู่ไงครับ

คำถามแรกคือ สถานะปัจจุบันคือเรามีคูตินโญ่อยู่ แล้วคนพยายามให้เราเปลี่ยนสถานะโดยมาขอซื้อคูตินโญ่ด้วยเงิน 127 ล้านปอนด์ ส่วนคำถามที่สองผมปลดล็อกออกบอกว่า ถ้าตอนนี้ไม่มีอะไรอยู่เลย ทั้งคูตินโญ่ ทั้งเงิน 127 ล้านปอนด์ และคำถามที่สาม ผมเปลี่ยนสถานะใหม่ว่า ถ้าเรามีเงิน 127 ล้านปอนด์อยู่ ให้เราเปลี่ยนสถานะคือให้เอาเงินไปซื้อคูตินโญ่ เราจะเอาไหม

และท่านเห็นไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อแรกพอเรามีคูตินโญ่อยู่ เราก็ไม่อยากเสียไปใช่ไหมครับ % ของคนที่ตอบว่าไม่ควรขาย มันเลยสูงถึง 70.3% แต่พอมาข้อที่ 2 บอกว่าแล้วถ้าเราไม่มีอะไรเลยอยู่ล่ะ ให้เลือก คนส่วนใหญ่กลับเลือกเอาเงินมากกว่า เลือกคูตินโญ่แค่ 29.7% เอง

ลองดูดี ๆ นะครับ ข้อที่ 1 กับ 2 มันก็คือคำถามเดียวกันนะครับ คือถ้าเหตุผลข้อแรกคือเราไม่ควรขายคูตินโญ่ ก็แปลว่าเราคิดว่าเงิน 127 ล้านมันสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้น้อยกว่าการมีคูตินโญ่อยู่จริงไหมครับ เพราะฉะนั้นข้อที่ 2 เราก็ควรเลือกเอาคูตินโญ่เหมือนเดิม และเราก็ควรปฏิเสธไม่รับเงิน 127 ล้านปอนด์นั้นไป

ยิ่งมาดูข้อที่ 3 ยิ่งชัดใหญ่ครับ คราวนี้ เรามีเงิน 127 ล้านปอนด์อยู่ในมือ ถามว่าควรเอาไปซื้อคูตินโญ่ไหม คราวนี้คนส่วนใหญ่ถึง 94.6% บอกว่าไม่ซื้อหรอก เอาไปซื้อกองกลาง กองหลังดีกว่า งั้นแปลว่าเงิน 127 ล้านปอนด์ที่มีเราสามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้ดีกว่าการมีคูตินโญ่ใช่ไหมครับ แต่ทำไมตอนมีคนเอาเงินมาให้ 127 ล้านปอนด์ขอซื้อคูตินโญ่ในข้อแรก เราถึงไม่ขายล่ะครับ แล้วก็เอาเงิน 127 ล้านปอนด์ไปซื้อกองกลางกับกองหลังดีกว่า มีคูตินโญ่ในทีมอีก (เหมือนที่ตอบในข้อที่ 3)

เหตุผลง่าย ๆ คือเรามี Status Quo Bias ครับ เราให้มูลค่าของสิ่งที่เรามีมากขึ้นเป็นพิเศษ เราไม่ชอบการเปลี่ยนสถานะครับ เพราะการตัดสินใจทั้ง 3 ข้อนั้น มันคือการประเมินมูลค่าของคูตินโญ่ทีี่มีต่อทีม กับจำนวนเงิน 127 ล้านปอนด์ และสำหรับหลาย ๆ คนนั้น หากเรามีคูตินโญ่ในทีมอยู่แล้ว เราจะประเมินเขาว่ามีมูลค่าสูงกว่า 127 ล้านปอนด์ (ไม่ว่าจะใช้ปัจจัยใดประเมิน) เพราะเราไม่อยากขายเขา แต่ถ้า Status ปัจจุบันคือ คูตินโญ่ไม่ได้อยู่ในทีม สำหรับหลาย ๆ คน มูลค่าของคูตินโญ่ที่มีต่อทีมต่ำกว่า 127 ล้านปอนด์ทันที ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นคูตินโญ่คนเดิมนี่แหละ

ใช่ครับ คำถามผมอาจจะยังไม่ได้ครอบคลุม หรือลงลึกลงรายละเอียด และไม่ได้ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะทักท้วงได้ว่า อ้าว คิดว่าหมายถึงแบบนั้นแบบนี้ ไม่เป็นไรครับ เราแค่ลองดูเฉย ๆ แต่ประเด็นที่สำคัญที่อยากนำมาเล่าคือเรื่อง Status Quo Bias นี้แหละครับ

แล้วข้อเรียนรู้คืออะไร อย่างนี้ครับ พอผมเห็นเรื่องนี้ เวลาผมจะตัดสินใจอะไร ผมจะถามตัวเอง 3 คำถามนี้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ผมมีหุ้น XXX ใน Port มูลค่า 2 แสนบาท แล้วกำลังลังเลว่า เอขายทิ้งซะดีไหม (ไม่ว่าจะติดดอย หรือ ทำกำไร ก็ได้ทั้งนั้นครับ) ผมจะถามตัวเอง 3 คำถามอย่างนี้ครับ

  1. เราควรขายหุ้น XXX นี้ไหม

  2. ถ้าเราไม่มีหุ้น XXX อยู่ และมีคนเสนอทางเลือก 2 ทางคือ เอาหุ้น XXX มาให้ หรือ เอาเงิน 2 แสนบาท จะเลือกอะไร

  3. ถ้าเราไม่มีหุ้น XXX อยู่ แต่มีเงินอยู่ 2 แสนบาท เราควรเอาเงิน 2 แสนบาทนี้ไปซื้อหุ้น XXX ไหม

ถ้า 3 คำตอบนี้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่นข้อที่ 1 ตอบควรขาย ข้อที่ 2 ตอบเอา 2 แสนบาท ข้อที่ 3 บอกไม่เอาเงิน 2 แสนบาทไปซื้อหรอก อันนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราประเมินเพื่อลด Status Quo Bias ลงแล้ว เราก็น่าจะขาย แต่ถ้ามันยังขัดแย้งกัน บางทีเราอาจจะเตือนตัวเองว่า จริง ๆ ที่เราไม่ขาย มันเป็นเพราะ Status Quo Bias หรือเปล่า

อ้อ บทเรียนอีกเรื่องคือ คนไทยเป็นแฟนบอลหงส์แดงเยอะมากและน่ารักมากครับ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยมาให้ความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

 

ยิ่งแย่ ยิ่งดี (Antifragile)

นักเขียนคนหนึ่งที่ผมชอบงานเขียนเขามาก ๆ คือ Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียนหนังสือระดับ Best Seller หลายเล่ม เช่น Fooled by randomness และที่ดังมาก ๆ คือเรื่อง Black Swan ซึ่งเขาได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับว่าเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น มันจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นมาทั้งหมดได้เลย

แต่ที่อยากเขียนถึงในงานเขียนนี้คือผลงานเล่มที่ 4 ของเขาครับ คือหนังสือชื่อ Antifragile ซึ่งผมได้อ่านมานานพอสมควรแล้ว และหาโอกาสมาเขียนเล่าให้ฟังไม่ได้สักที

เริ่มจากความหมายก่อนครับ คำว่า Fragile มันแปลเป็นไทยว่า “เปราะบาง” อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ มันเหมือนกับเรื่องความเสี่ยงที่เราอาจจะเจอ สมมุตินะครับว่าเราเปิดร้านขายกาแฟ ถ้าเราทำไม่ดี เช่น ชงกาแฟไม่อร่อย สุดท้ายลูกค้าไม่เข้าร้าน เราก็เจ๊ง แบบนี้แสดงว่าเรามีจุดเปราะบางอยู่

คนส่วนใหญ่จะมักจะพยายามลดจุดเปราะบางนี้ลง เช่น เราก็ต้องพยายามไปฝึกชงกาแฟให้เก่ง ๆ หรือก่อนที่จะนำกาแฟไปเสริฟ อาจจะต้องมีคนคอยควบคุมคุณภาพ หรือแม้กระทั่งหากลูกค้าไม่พอใจในรสชาติกาแฟ เราก็จะไม่เก็บเงินลูกค้า อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ

คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าคำที่ตรงข้ามกับคำว่า เปราะบาง (Fragile) คือคำว่าทนทาน (Robust) แปลว่า เราจะทำอย่างไรก็ได้ ที่ทำให้ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นนั้น ส่งผลเสียกับเราน้อยที่สุด นี่คือหลักการที่คนทั่วไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งดำเนินชีวิต

แต่ Taleb มาเหนือชั้นกว่านั้นครับ คือเขาบอกว่าจริง ๆ คำที่น่าจะตรงข้ามกับคำว่าเปราะบาง (Fragile) น่าจะเป็นคำว่า Antifragile ซึ่งผมไม่รู้จะแปลเป็นคำไทยว่าอย่างไรดี คือ Antifragile มันไม่ใช่ความทนทานต่อความผิดพลาด (Robust) นะครับ มันกลับทางเลย คือยิ่งมันพลาด มันยิ่งดี

อะไรนะ มันมีเหตุการณ์แบบนี้ด้วยเหรอ มีครับ เอาสมมุติอย่างนี้แล้วกันครับ บทความที่ผมกำลังเขียนนี้ ถ้าผมเขียนได้ดี เผอิญท่านนายกมาอ่านเจอ แล้วไปบอกตอนคุยกับนักข่าวว่า บทความนี้ดีมากไปอ่านกันซะ แบบนี้ บทความผมก็ประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีคนมาอ่านมาแชร์กันมหาศาลใช่ไหมครับ

แล้ว Antifragile คืออะไร คืออย่างนี้ครับ ถ้าสมมุติท่านนายกอ่านเสร็จแล้ว ไม่ถูกใจ และบอกนักข่าวว่า พวกคุณอย่าไปอ่านบทความนี้นะ เขียนอะไรไม่ได้เรื่องเลย แย่มาก ๆ เดี๋ยวผมจะแบน ไม่ให้คนอ่านบทความนี้ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบทความนี้ที่ผมเขียนครับ

ไม่ใช่ว่า พอท่านนายกบอกห้ามอ่าน (ซึ่งมันคือสิ่งที่มันไม่น่าจะดีกับบทความผมใช่ไหมครับ เพราะบทความนี้ในสายตาของท่านอาจจะไม่ได้เรื่อง) คนก็จะไม่อ่าน ไม่สนใจ แต่ตรงกันข้าม ผมว่าบทความนี้จะดังมาก ๆ เผลอ ๆ ดังกว่า บทความที่ท่านนายกแนะนำให้อ่านด้วยซ้ำ อารมณ์แบบนี้แหละครับที่เรียกว่า Antifragile หรือเข้าข่ายว่า “ยิ่งแย่ ยิ่งดี” นั่นแหละครับ

ก็เหมือนกับดาราเหมือนกันครับ เคยได้ยินมาว่าดาราหลาย ๆ คน ถึงกับบอกว่า มีข่าวซุบซิบในทางเสียหาย บางครั้งมันดีกว่าไม่มีข่าวอะไรเลยซะด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ ดูเหมือนแปลก เพราะข่าวซุบซิบในทางเสียหาย มันไม่น่าจะดีใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ดาราเหล่านั้นกลับได้พื้นที่ในสื่อ และก็เป็นที่มาของความสนใจที่เพิ่มสูงขึ้น และหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เขาได้งานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เพียงแต่ว่า อย่าให้มันมากเกินไปเท่านั้น เช่น เรื่องบทความ อย่าให้มันล่อแหลมถึงขนาดผิดกฏหมาย (แบบนั้นรับรองว่าแย่แน่ ๆ ) หรือข่าวซุบซิบดาราอย่างให้มันกลายเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง (แบบนั้นรับรองว่างานหายหมดแน่)

ที่อยากต่อยอดคือ ทุกคนเวลาทำอะไรแล้ว บางทีเรากลัวความล้มเหลว เพราะเราเชื่อว่าความล้มเหลวมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเรา แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว บางทีพบว่า หลาย ๆ ครั้ง ความล้มเหลวนั้นนอกจากช่วยสอนเราแล้ว บางทีมันดีกับเราซะด้วยซ้ำ

คราวนี้ ที่อยากฝากให้คิดต่อคือ ในอาชีพของเรานั้น ความล้มเหลวคืออะไร ที่สำคัญคือความล้มเหลวนั้นมันให้ผลดีกับเราอย่างไรได้บ้าง มันจะได้เข้าข่าย Antifragile อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง

แหมอยากให้ท่านนายกแบนบทความนี้จริง ๆ เลยครับ 555

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho