Review หนังสือ OKRs ฉบับภาษาไทย

ระยะหลังมีหลายท่านสอบถามมาว่าอยากเรียนรู้เรื่อง OKRs แต่ไม่สะดวกอ่านเล่มภาษาอังกฤษ อยากอ่านหนังสือภาษาไทยมีเล่มไหนบ้าง วันนี้พอมีเวลา เลยขอมาเรียบเรียงหนังสือ OKRs ฉบับภาษาไทยเท่าที่ผมได้เลยอ่านนะครับ

พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs
ผู้แต่ง ศ.ดร. นภดล ร่มโพธิ์
จำนวนหน้า 213 หน้า
ราคา 220 บาท

เล่มนี้ผมเขียนเองครับ ออกมาตั้งแต่ต้นปี 2018 ตอนนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 หนังสือมีจำนวน 213 หน้า จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นเรื่องการสร้างและการนำเอา OKRs ไปใช้ในองค์กร ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของการใช้ OKRs ในชีวิตประจำวัน

สำหรับส่วนแรกนั้น หนังสือเล่มนี้เริ่มจากการเล่าให้ฟังถึงข้อจำกัดที่องค์กรส่วนใหญ่เจอในการใช้ KPIs ในการวัดผล และก็เล่าที่มาที่ไปของระบบ OKRs แล้วจึงลงรายละเอียดถึงการสร้างและการนำเอา OKRs ไปใช้ในองค์กร รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลกับ OKRs ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร และจบลงด้วยปัญหาที่มักจะพบในการใช้ OKRs

สำหรับส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ จะเริ่มจากความสำคัญของการตั้งเป้าหมายและการวัดผลในชีวิตประจำวันของเรา การสร้าง Mission Vision Value ของชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การตั้ง OKRs ของชีวิตเรา พร้อมด้วยตัวอย่างส่วนตัวของผู้เขียน

หนังสือเล่มนี้ไม่ยาวมากครับ เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นอยากทำความรู้จักกับแนวคิดนี้เพื่อนำไปใช้ในองค์กร หรืออยากเอาไปใช้ในการพัฒนาชีวิตตัวเอง

สนใจหนังสือเล่มนี้สั่งซื้อได้ทางซีเอ็ด http://bit.ly/30flY5C 
หรือต้องการหนังสือพร้อมลายเซ็นผู้แต่ง สั่งซื้อได้ทาง m.me/NPIntelligence (มีจำนวนจำกัดครับ สำหรับช่องทางนี้)

ตั้งเป้าชัด วัดผลได้ด้วย OKRs (Measure What Matters)
ผู้แต่ง John Doerr
บรรณาธิการ ณรงค์วิทย์ แสนทอง
ผู้เรียบเรียง กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์ ดร. ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ธนกร นำรับพร สุชาดา ปาเตีย นฤมล ตันติฤทธิ์ศักดิ์ และ ดร. วีรินยาอร เหลืองบริบูรณ์
จำนวนหน้า 392 หน้า
ราคา 360 บาท

 

หนังสือเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นโดย John Doerr เจ้าพ่อทางด้าน OKRs ของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะ John Doerr นี่แหละครับที่เอา OKRs ไปใช้ที่ Google ที่ทำให้ OKRs เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในขณะนี้ นอกจากนั้น John Doerr คนเดียวกันนี้แหละครับ ที่เคยร่วมทำงานกับ Andy Grove อดีต CEO ของ Intel ที่เป็นผู้ริเริ่มนำเอา OKRs มาใช้ที่ Intel เป็นที่แรก ๆ

หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นคือมีกรณีศึกษาของบริษัทต่าง ๆ จำนวนมากที่เอา OKRs ไปใช้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Intel รีมายด์แอพลิเคชั่น นูน่า มายฟิตเนสพัล อินทูอิต มูลนิธิเกตส์ กูเกิล ยูทูป อะโดบี้ ซูมพิซซา เดอะลูเมอริส หรือแม้กระทั่งโครงการ ONE ของโบโน่

ผมว่าถ้าใครอยากรู้จัก OKRs ไม่น่าจะพลาดเล่มนี้ และโชคดีที่มีการแปลเป็นไทย โดยสำหรับผมแล้ว น่าทึ่งมากครับ เพราะคนแปลมีหลายคนมาก แต่ผมอ่านแล้ว ดูไม่ออกเลยว่าแยกกันแปล คืออ่านแล้วรื่นเข้าใจง่าย (ผมได้อ่าน Version ภาษาอังกฤษมาก่อนหน้านี้แล้วครับ)

แต่ถ้าใครอยากได้แบบ How to เลยว่าต้องทำอะไรอย่างไร เล่มนี้ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์สักเท่าไรในมุมนี้นะครับ และอีกอย่างอาจจะค่อนข้างหนาไปสำหรับบางท่านที่ต้องการแบบอยากเข้าใจเร็ว ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องตัวอย่างมีมาให้เห็นเรื่อย ๆ ครับ สำหรับผมอ่านแล้ว สร้างแรงบันดาลใจ แล้วอยากเอา OKRs มาใช้เลยล่ะครับ

สั่งซื้อได้ทางซีเอ็ด http://bit.ly/2FZHYtz

OKRs @Work บริหารผลงานสู่ความเป็นเลิศด้วย OKRs
ผู้แต่ง กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์
จำนวนหน้า 233 หน้า
ราคา 240 บาท

เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่เขียนเรื่อง OKRs ได้น่าอ่านและมีรายละเอียดมาก อ่านแล้วจะสามารถเข้าใจเรื่อง OKRs ได้เป็นอย่างดี อาจารย์กิตติพัทธ์เป็นผู้ที่มีความรู้และความสนใจเรื่อง OKRs เป็นอย่างมากครับ หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาคได้แก่ ภาคแรก ตั้งเป้าหมาย ภาคหลัง ทบทวนผลงาน และ ภาคสมทบ ลงมือทำ

ในภาคแรก ตั้งเป้าหมายนั้น หนังสือเล่มนี้เล่าที่มาที่ไปของ OKRs รวมไปถึงการออกแบบ OKRs โดยมีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนภาคหลัง ทบทวนผลงานนั้น หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของการสนทนา (Conversation) การพูดอย่างตรงไปตรงมา การประเมินผลที่สร้างสรรค์ รวมไปถึงเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพนักงานสามารถกล้าที่จะให้ความคิดเห็นและทดลองสิ่งใหม่ ๆ ในภาคสมทบนั้น จะเป็นเรื่องแนวทางการนำเอา OKRs ไปใช้ในองค์กร

ก็นับเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับ OKRs อีกเล่ม ที่สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจในเรื่อง OKRs ได้อย่างชัดเจนครับ

สั่งซื้อได้ทางซีเอ็ด http://bit.ly/2LEJSUb

Objectives and Key Results (OKRs) เครื่องมือการบริหารผลงานที่ได้ “ใจ” และได้ “งาน”
ผู้แต่ง ดร. อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์
จำนวนหน้า 191 หน้า
ราคา 200 บาท

เล่มนี้เขียนโดย ดร. อาภรณ์ ซึ่งก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่อง OKRs โดยหนังสือแบ่งออกเป็น 8 บทครับ เริ่มจากการนำเสนอให้รู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารผลงาน แล้วจึงเริ่มเล่าที่มาที่ไปของ OKRs รวมถึงไขข้อสงสัยว่า OKRs จำเป็นต้องเอามาแทน KPIs หรือไม่ รวมถึงทางเลือกในการนำเอา OKRs มาใช้ และการประเมินความพร้อมขององค์กรก่อนนำมาใช้

หลังจากนั้นหนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอแนวทางการสร้าง OKRs รวมถึงการติดตามและประเมินความสำเร็จของ OKRs และสรุปด้วยการนำเอา OKRs ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ก็ถือว่าเป็นอีกเล่มที่อ่านแล้วจะเข้าใจในเรื่อง OKRs มากขึ้นครับ (เข้าใจว่าตอนนี้ อาจารย์อาภรณ์ออกมาอีกเล่มคือตัวอย่างของ OKRs ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้อ่าน เลยยังไม่ขอเขียนสรุปนะครับ)

สั่งซื้อได้ทางซีเอ็ด http://bit.ly/2Xv67TM

ก็เป็นหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับ OKRs ทั้ง 4 เล่มที่ผมมีโอกาสได้อ่าน ไม่ว่าเล่มไหนก็น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสิ้นครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือติดตามได้ที่ Twitter https://twitter.com/NopadolRompho 

7 ข้อคิดสำหรับคนที่อายุขึ้นต้นด้วยเลข 3

จากที่ตอนนี้ผมกำลังมีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 4 และกำลังจะก้าวเข้าสู่เลข 5 ในอีกไม่กี่ปีนี้ ก็เลยมานั่งคิดว่า เอ ถ้าเราสามารถให้ข้อคิดกับตัวเราเองเมื่อสัก 10 ปีที่ผ่านมา เราจะบอกเขาว่าอย่างไร

ผมว่าการให้ข้อแนะนำกับคนที่อายุอ่อนกว่าสัก 10 ปี น่าจะเป็นอะไรที่พอดีกัน เพราะเรายังอยู่ยุคเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างระหว่าง Generation มากนัก อีกอย่าง ถ้ามันนานเกิน 10 ปี บางที บางอย่างเราลืมไปหมดแล้ว ข้อแนะนำบางอย่างก็อาจจะใช้ไม่ได้เหมือนกัน

เอาล่ะครับ แล้วถ้าผมสามารถกลับไปคุยกับตัวเองเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คือตอนเรายังอยู่ในวัยที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 เราจะแนะนำอะไรเขา อย่างที่บอกนะครับ อันนี้เป็นความเห็นของผมที่จะแนะนำตัวผมเอง แต่ถ้าท่านอ่านแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันนะครับ

ข้อที่ 1 สนใจสุขภาพตัวเองให้มากกว่านี้

ถึงแม้ว่าตอนนี้ผมก็มีสุขภาพดีพอสมควร แต่ถ้าเป็นไปได้ ผมจะออกกำลังกายมากกว่านี้ตอนช่วงอายุ 30 เพราะส่วนใหญ่แล้ว สุขภาพเราจะเริ่มเสื่อมถอยก็ช่วงนี้แหละ ตอน 20 กว่า เรามักจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ออกกำลังกายกันมากพอควร ช่วงต้น ๆ ก็ยังเรียนมหาวิทยาลัยกันอยู่ พอจบแล้ว ก็อาจจะเรียนต่อโท เอก กัน ช่วงนั้น ยังมีกลุ่มเพื่อนให้ออกกำลังกาย แต่พอ 30 เรามักจะแต่งงานมีครอบครัว มีภาระ จึงลดการออกกำลังกายลง เวลากินอะไร ก็ไม่ค่อยระมัดระวัง ซึ่งมันก็นำมาซึ่งการที่ร่างกายเราอ่อนแอ มีน้ำหนักตัวขึ้น ถ้าเราได้ดูแลสุขภาพของเราตั้งแต่ตอนนั้น มันก็จะทำให้เรามีสุขภาพดีมากขึ้น

ข้อที่ 2 ให้เวลากับพ่อแม่ให้มากขึ้นกว่านี้

จริง ๆ ข้อนี้ เป็นข้อที่ผมก็ทำอยู่ค่อนข้างมากนะครับ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะทำให้มากกว่านี้ไปอีก เพราะเวลาทุกช่วงเวลา เราไม่สามารถจะย้อนกลับไปได้แล้ว ผมจำได้ว่า ผมเคยพาคุณพ่อคุณแม่ไปเที่ยวนิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อกับคุณแม่บอกว่าเสียดายเงิน ไม่อยากไป แต่ผมก็บอกว่า เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมเก็บเงินไว้ก่อน แล้วพอมีเงินมาก ๆ ก็ค่อยไป ถึงตอนนั้น สุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะไม่เอื้ออำนวยแล้ว พวกเราก็เลยไปกัน และก็ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่าจริง ๆ ตอนนี้ คุณพ่อผมเริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ แล้ว บอกว่าจะพาไปต่างประเทศ เขาก็ไม่ได้รู้สึกดีใจอะไร เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมถึงอยากจะบอกกับทุกคนว่า พยายามให้เวลากับท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ ท่านมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ อะไรที่เราคิดว่า “จะทำ” บางที เราอาจจะไม่มีโอกาสทำก็ได้ครับ

ข้อที่ 3 ให้เวลากับลูก ๆ และครอบครัวของเรามากขึ้นกว่านี้

นอกจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว ช่วงอายุ 30 นี้ หลายคนก็มักจะมีครอบครัว ผมอยากแนะนำว่า ช่วงเวลาที่เรามีลูกเล็ก ๆ ที่เราต้องคอยอุ้ม คอยเลี้ยงดูนั้น เป็นช่วงเวลามหัศจรรย์จริง ๆ ครับ ผมทราบครับว่าภารกิจของแต่ละท่านก็แตกต่างกันไป เอาเป็นว่า พยายามใช้เวลาให้มากที่สุด ช่วงเวลาที่เราอายุขึ้นเลข 3 เราก็มักจะมีภารกิจ การงานค่อนข้างมาก แต่ยังไงก็อย่าลืมเรื่องการให้เวลากับครอบครัวนะครับ อาจจะหนักหน่อย เหนื่อยหน่อย แต่อย่างที่บอกครับว่า เมื่อเลยเวลานี้มาแล้ว ลูก ๆ โตกันแล้ว เราจะย้อนเวลากลับมาอุ้ม มาเล่นกับเขา เหมือนตอนเด็ก ๆ มันก็เป็นไปไม่ได้แล้วนะครับ

ข้อที่ 4 ทำงานให้น้อยลง

หลายคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมผมถึงแนะนำอย่างนี้ คือผมเข้าใจดีครับ ช่วงอายุ 30 อาจจะอยู่ในช่วงการสร้างเนื้อสร้างตัว เราต้องขยันขันแข็ง ใช่ครับ อันนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าเราจะทำข้อที่ 1-3 ให้ได้ดี เราต้องทำข้อที่ 4 ให้ได้ด้วยครับ คือผมอยากให้เราใช้ชีวิตอย่างสมดุลมากขึ้นครับ การทำงานหามรุ่งหามค่ำ โดยไม่ดูสุขภาพตัวเอง ไม่มีเวลาให้พ่อแม่ หรือครอบครัว ผมว่ามันจะไม่สมดุล ในส่วนตัว ถึงผมจะพยายามใช้ชีวิตให้สมดุลที่สุดแล้ว แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็ยังอยากจะลดเวลาการทำงานของผมลงอยู่ดีครับ

ข้อที่ 5 หาตัวเองให้เจอ

ยิ่งหาตัวเองเจอเร็วเท่าไรยิ่งดีครับ ใช่ครับ ตอนเรียน ม. ปลาย หลายคนก็แนะนำเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นมันค่อนข้างยากครับ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าอาชีพใด ทำงานแบบไหน แล้วเราจะชอบไหม เราก็เลือกคณะที่เรียนในมหาวิทยาลัยตามเพื่อน ๆ หรือไม่ก็กระแสสังคม แต่พอจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว ทำงานได้มาสักระยะหนึ่งแล้ว ผมว่าช่วงเวลาที่เราอายุขึ้นเลข 3 นี่แหละครับ ที่เราน่าจะตอบตัวเองได้ชัด ๆ แล้วว่าเราต้องการอะไร เราชอบอะไร แล้วอย่าให้การศึกษาในอดีตที่เราได้มา เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงตัวเรานะครับ แปลว่า จบวิศวะ มาก็ทำการเงินได้ จบหมอมาก็ทำธุรกิจ ได้ โลกเราสมัยนี้มันเจริญมากจนกระทั่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองทำได้เกือบทั้งหมดแล้วครับ

ข้อที่ 6 เลิกกังวลกับเรื่องต่าง ๆ

พออายุขึ้นเลข 4 แล้ว ผมยังนึกไม่ออกเลยครับว่า เรื่องที่ผมเคยกังวลตอนอายุนำหน้าด้วยเลข 3 คืออะไร ผมคิดว่าสิ่งที่เรากังวลอยู่ในปัจจุบันนั้น ในอนาคตแล้ว มันคงเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าไม่ใช่ทั้งหมดทุกเรื่องก็ส่วนใหญ่นั่นแหละครับ เพราะฉะนั้น หันมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกันดีกว่าครับ ปัญหา หรือ อุปสรรค มันต้องมีอยู่แล้วครับ แต่มันมีมาให้เราใช้ความคิดในการแก้ไขมันก็เท่านั้นครับ ทำดีที่สุด ได้ ไม่ได้ ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

ข้อที่ 7 ใช้ชีวิตปัจจุบันอย่างมีความสุข

ดูเหมือนจะเป็นข้อความที่เคยเห็นอยู่ทั่ว ๆ ไปนะครับ บางคนก็อาจจะรู้สึกต่อต้านด้วยซ้ำไปว่า จะให้มีความสุขได้อย่างไร ก็เจ้านายเป็นแบบนี้ ลูกน้องเป็นแบบนี้ ครอบครัวเป็นแบบนี้ ใช่ครับ ผมเข้าใจดีในข้อจำกัดเหล่านั้น แต่สุดท้ายความสุขก็อยู่ที่การคิดของเรา เราอาจจะไม่ได้อยู่ในที่ที่จะมีความสุขได้ง่าย ๆ แต่ถ้าเราปรับแนวคิดของเราให้มันเป็นเชิงบวก พยายามหาหนทางแก้ไข และบางทีถ้าเหนื่อยมาก ก็หยุดบ้าง อะไรบ้าง ถ้าจะทุกข์ก็ขอให้ทุกข์น้อยที่สุดก็ได้ เวลามันผ่านไปเรื่อย ๆ ครับ ถ้าเราไม่สามารถมีความสุขในปัจจุบันได้ เราก็ไม่สามารถจะมีความสุขได้เลยทั้งชีวิตครับ ย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะพยายามใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้มีความสุขมากที่สุด หรือแม้กระทั่งตอนอ่านบทความนี้ ไม่ว่าท่านจะอายุเท่าไร ลองดูนะครับ

เอาเป็นว่า ข้อคิดเหล่านี้ เป็นข้อคิดที่ผมเขียนให้กับตัวเองเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็แล้วกันครับ แต่ถ้าจะมีประโยชน์กับท่านอื่น ๆ ด้วย ก็จะดีใจมาก ๆ ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

Flow สภาวะลื่นไหล ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง

เคยมีประสบการณ์ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อไหมครับ คือรู้สึกตัวอีกที ก็ตกใจว่า โห เวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงแล้วเหรอเนี่ย

การที่เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็วนีี่ มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราทำอะไรที่เรามีความสนใจมาก ๆ เรียกว่าใจจดใจจ่อกับสิ่งที่เราทำอย่างมาก อาจจะเกิดขึ้นตอนเราทำงาน หรือ ตอนเราทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือถ้าถามเด็ก ๆ ก็มักจะเป็นตอนที่เขาเล่นเกมนั่นแหละครับ มันเหมือนลืมโลกไปเลย นั่งเล่นได้เป็นชั่วโมง ๆ โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ ไม่รู้สึกเหนื่อย

เราเรียกสภาวะแบบนี้ว่า Flow หรือ In the Zone หรือถ้าแปลเป็นไทยคือสภาวะที่ทุกอย่างมันลื่นไหลครับ

ผมรู้ตัวเลยว่า ผมจะเข้าสู่สภาวะนี้เกือบทุกครั้ง เมื่อผมเขียนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่ผมสนใจมาก ๆ บางทีเขียนติดกันหลาย ๆ หน้า โดยไม่รู้ตัวเลยว่า เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว มันเหมือนเวลามันหยุดชะงักลงอย่างนั่นน่ะครับ

ปกติเราจะเข้าสู่สภาวะ Flow ได้อย่างไร จากการสังเกตของผมนะครับ คือ อย่างแรกมันจะต้องเป็นงานที่เราชอบมาก ๆ สนใจมาก ๆ อย่างผม ผมชอบการเขียนและอ่านหนังสือเอามาก ๆ เลย อย่างที่สอง ผมว่าเราต้องมีความสามารถถึงในงานนั้น ๆ ด้วย หรือเรียกว่า งานนั้นมันต้องไม่ยากเกินไป แต่มันต้องไม่ง่ายเกินไป เพราะถ้ายากเกินไป เราทำไปแป๊บเดียว เราจะรู้สึกท้อ แล้วความอยากทำมันจะลดลง แต่ถ้ามันง่ายเกินไป มันก็ไม่ท้าทาย และ เราก็ไม่อยากทำอีกเหมือนกัน เพราะมันน่าเบื่อ

อีกประการหนึ่งคือ มันจะต้องเป็นงานที่เราเห็นผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การเขียนหนังสือ พอผมพิมพ์ไป ผมก็เห็นเลยว่า ผมกำลังเขียนอยู่ เขียนไปแล้วกี่หน้า อะไรแบบนี้ แต่ถ้ามันเป็นงานที่ทำแล้ว เราไม่เห็นผลลัพธ์ มันก็จะลดความน่าสนใจลง คิดถึงการเล่นเกมเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ สมมุติว่าเรากำลังเล่นเกม เสร็จแล้ว เขาบอกว่า จะบอกผลของการเล่นเกมในด่านนี้อีกสัปดาห์หนึ่ง แบบนี้ เราก็ไม่อยากเล่นแล้วจริงไหมครับ

ทำไมผมถึงสนใจเรื่องนี้มาก ๆ น่ะเหรอครับ เพราะผมคิดว่า ช่วงเวลาที่เราอยู่ในสภาวะลื่นไหลแบบนี้ เราจะทำอะไรได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียวครับ เรียกว่ามันจะเป็นจุดที่เรามี productivity สูงสุดก็ว่าได้

ถามว่าแล้ว สภาวะนี้มันจะเกิดขึ้นได้ช่วงใดบ้าง จริง ๆ ส่วนตัวนะครับ ผมคิดว่ามันเกิดได้ทุกช่วงเวลาแหละครับ ขอให้เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบเท่านั้น และต้องไม่มีอะไรมาขัดจังหวะเราด้วยนะครับ แต่สำหรับผม ผมมักจะเข้าสู่สภาวะ Flow นี้ ในช่วงเช้ามืดครับ ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวน และอีกอย่างหนึ่ง คือช่วงเช้ามืด เป็นช่วงที่ผมสดชื่นที่สุด ช่วงเย็น ๆ บางทีสอนมาทั้งวัน มันเหนื่อย มันจึงเข้าสู่สภาวะนี้ค่อนข้างยาก

แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าเราเข้าสู่สภาวะนี้ได้ มันเหมือนเรากำลังแปลงกายเป็นยอดมนุษย์ อะไรแบบนั้นเลยครับ มันทำให้เราสามารถทำงานนั้น ๆ เสร็จได้เร็วมาก ๆ

พยายามหาจังหวะแบบนี้ให้เจอบ่อย ๆ ครับ เพราะถ้าเราหาเจอเมื่อไร ผมรับรองว่า เราจะสามารถสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมออกมาได้เรื่อย ๆ และเป็นจำนวนมากมายเลยทีเดียว

อ้าว เวลาผ่านไปนานแค่ไหนไม่รู้เหมือนกันครับ เขียนเรื่องนี้จบซะแล้ว 555

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

เวลากับเงิน อะไรสำคัญกว่ากัน

ผมว่าคำถามนี้สำคัญนะครับ

คือถ้าถามคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า “เงิน” สิที่สำคัญกว่า “เวลา” เพราะเงินเป็นที่มาของความสุข เช่น มีเงินก็เอาไปซื้ออาหารอร่อย ๆ กิน เอาไปท่องเที่ยว เอาไปซื้อของได้อีกจิปาถะ มีเวลา จะเอาไปทำอะไรได้

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เขาก็จะเปลี่ยน “เวลา” ที่เขามี ให้เป็น “เงิน” ก็อย่างที่เราไปทำงานกันทุกวันนี่แหละ ส่วนใหญ่แล้ว ก็ทำเพื่อให้ได้เงินมา ใช่ไหมครับ ลองบริษัทบอกว่า ต่อไปนี้ จะไม่จ่ายเงินแล้วนะ ผมว่าส่วนใหญ่ก็จะลาออกไปหางานที่อื่นทำกันใหม่

แต่ถ้าท่านอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เขาก็จะบอกว่า คน “รวย” ส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “เวลา” มากกว่า “เงิน” เพราะเวลามันมีจำกัด หมดแล้ว หมดเลย ส่วนเงิน ถ้าหายไป ก็หากลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ไม่จำกัด

ดังนั้นคนรวยจึงให้ความสำคัญกับเวลามากกว่า เขาจะจ้างให้คนส่วนใหญ่ทำงานแทนเขา เพื่อที่เขาจะได้มีเวลามากขึ้นไปทำในสิ่งที่เขาชอบและถนัดมากกว่า เพราะเขารู้ว่า เงินที่เขาใช้จ้างให้คนอื่นทำนั้น เดี๋ยวมันก็จะกลับมาหาเขา จากการที่เขาได้ทำงานที่เขาชอบและถนัดนั่นเอง

อ้าว แล้ว สรุปว่าอันไหนดีกว่ากันล่ะครับ

ความเห็นผมนะครับ ผมว่า ทั้ง 2 สิ่งนี้ มันมีความสำคัญทั้งคู่ครับ คืองี้ครับ มันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนี้เรากำลังขาดอะไรมากกว่ากันเท่านั้น เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราขาดอยู่ จริงไหมครับ

เช่น ตอนนี้เรายังมีฐานะจนหรือปานกลาง เงินก็ไม่ค่อยมี แต่มีเวลาไปโน่นมานี่ สบาย ๆ ถ้าถามว่าตอนนี้เราอยากได้อะไร ส่วนใหญ่เราก็จะตอบว่า อยากได้ เงิน น่ะสิ จะได้รวย ๆ

เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะเรายังไม่มีเงินไง เรามีแต่เวลา เราจึงพยายามที่จะสร้างธุรกิจ รับทำงานเสริม หรือหางานที่ได้รายได้สูง ๆ โดยไม่ค่อยสนใจว่า มันจะทำให้เวลาเราหายไปแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นคนรวยมาก ๆ เงินมีเหลือเฟือ แต่สิ่งที่เขาขาดไปคือ “เวลา” เพราะเขาต้องไปประชุม ไปเป็นประธานงาน
ต่าง ๆ เดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศเป็นว่าเล่น คนเหล่านี้ จึงโหยหา “เวลา” ไงครับ เพราะเงินเขามีเยอะพอแล้ว แต่ที่เขาขาดก็คือเวลานั่นเอง

ความเห็นของผมก็คือ เราต้องพยายาม Balance ในส่วนนี้ครับ เพราะถ้าเราเอียงไปทาง “เวลา” มาก ๆ เราก็จะเป็นคนที่วัน ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อันจะทำให้เราอาจจะลำบากกาย ลำบากใจได้ภายหลัง แต่ถ้าเราเน้น “เงิน” มาก ๆ เวลามันก็หายไป

ข้อดีของเงิน คือ มันสร้างเก็บไว้ใช้ภายหลังได้ แต่ เวลา เราเก็บมันไว้ไม่ได้ แต่ข้อดีของเวลา คือมันมีมาให้เราตลอด ตื่นเช้าจนจบวัน เราก็มี 24 ชั่วโมง พรุ่งนี้ ก็มีมาใหม่อีก 24 ชั่วโมง แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เงิน ถ้าไม่หา มันไม่มาหาเราเองนะครับ

คิดให้ดีนะครับ เวลาเราจะเปลี่ยน “เวลา” ไปเป็น “เงิน” ว่ามันคุ้มไหม เช่น เราจะรับทำงานนี้ เราได้เงินเท่าไร และเราต้องเสียเวลาอันมีค่าเราไปเท่าไร

ในทางกลับกัน เราก็ต้องคิดให้ดีอีกเช่นกัน เวลาเราจะเปลี่ยน “เงิน” ไปเป็น “เวลา” เช่น เราจะไม่ทำงานนี้แล้ว เราจะได้เวลากลับคืนมา แต่เราก็คงต้องยอมเสีย “เงิน” ที่จะได้ในส่วนนั้นไป หรือ เราจะขึ้นเครื่องบินไป แทนที่จะขึ้นรถบัสไป อันนี้เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้น เอาไปทำสิ่งอื่นนอกจากการเดินทาง แต่อย่าลืมว่า เราก็อาจจะต้องจ่ายแพงกว่า (เอ จะใช่หรือเปล่านะ เดี๋ยวนี้ Low Cost Airline มันก็ถูกมาก ๆ 555)

แต่จะดีที่สุดเลย ถ้าเราได้ทั้ง “เวลา” ได้ทั้ง “เงิน” ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าใครเจอ ก็ถือว่าสุดยอดเลย จริงไหมครับ และผมเชื่อว่ามันมีอยู่จริงด้วย เพียงแต่เราตั้งใจจะหามันหรือเปล่าก็เท่านั้นเองครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความสำเร็จ

เคยได้ยินคำว่า “ความสำเร็จ” กับ “ความล้มเหลว” บ่อย ๆ ไหมครับ

หลายคนก็คงตอบว่า ได้ยินบ่อยมาก 5555

คำสองคำนี้ ดูเหมือนกับเป็นคำที่ตรงข้ามกัน เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ถ้าสำเร็จก็ไม่ล้มเหลว หรือ ถ้าล้มเหลวก็ไม่สำเร็จ เหมือนเป็นสีขาวกับดำ อะไรทำนองนั้น

จะคิดเช่นนั้นก็ได้ครับ แต่ถ้าเรามามองดูดี ๆ จริง ๆ ทั้งสองสิ่งนี้ มันมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก

เอ จะใกล้ชิดกันอย่างไร มันตรงกันข้ามชัด ๆ

อย่างนี้ครับ จริง ๆ แล้ว ความล้มเหลวนั้นถ้ามองให้ดี มันเป็น “องค์ประกอบ” ของความสำเร็จมากกว่า

ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังครับ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมพาลูกชาย ซึ่งอายุ 11 ขวบ ไปฝึกขี่จักรยาน และทุกคนก็คงเดาได้ว่า การขี่จักรยานครั้งแรกจะเป็นอย่างไร ใช่ครับ มันต้องล้ม คงหายากมากที่เราจะหยิบจักรยานมาขี่ครั้งแรก แล้วขี่ได้ทันที จริงไหมครับ

ผมก็มองดูเขาไปเรื่อย ๆ พอล้ม ก็ไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรหรอกครับ เขาก็หยิบจักรยานขึ้นมาขี่ใหม่ ขี่อีกก็ล้มอีก ได้แผลมาเลย

คราวนี้ ถ้าเราหยุดภาพไว้ตรงนี้ เราเรียกการล้มนี้ว่า “ความล้มเหลว” ไหมครับ

ถ้ามองผลลัพธ์อย่างเดียว คำตอบก็น่าจะเป็นว่า “ใช่” เพราะมันขี่ไม่ได้ไง แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไป ทุกครั้งที่เขาล้ม เขาน่าจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง

ผมเห็นเขาล้มมาหลายรอบ ลุกขึ้นปัดมือ ปัดขา และก็บ่นกับตัวเอง แต่เขาก็หยิบจักรยานมาขี่ต่อ

และก็คงเหมือนกับทุกท่านที่ขี่จักรยานเป็น ในที่สุดเขาก็ขี่ได้ หรือพูดอีกแบบก็คือ ในที่สุดเขาก็ทำจน “สำเร็จ”

นี่แหละครับ ที่ผมอยากจะบอกว่า ความล้มเหลว (ที่ขี่แล้วล้มทุกที) มันเป็นองค์ประกอบของ ความสำเร็จ (ที่ขี่จักรยานได้)

ในชีวิตของเราเช่นเดียวกันครับ ถ้าเราทำอะไรไม่สำเร็จ ให้ลองคิดภาพนี้ดูว่า นั่นแหละ เรากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จไปเรื่อย ๆ ขออย่างเดียว ทุกครั้งที่ล้มเหลว เราควรจะเรียนรู้อะไรบางอย่าง และการเรียนรู้นั้นเอง จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุดนะครับ

ล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มเลิกเป็นพอครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho