9 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือคิดพิลึกแบบนักเศรษฐศาสตร์ (Think Like A Freak)

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Steven D. Levitt กับ Stephen J. Dubner จริง ๆ เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของเขาใน Series นี้ ต่อจาก Freakonomics และ Super Freakonomics ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องราวเชิง Bebavioural Economics ซึ่งเป็นแนวที่ผมชอบ แต่ก็แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่ยังไม่ได้อ่าน 2 เล่มแรก มาอ่านก็เล่มนี้เลย

อ่านจบ ก็ชอบอีกเช่นเคย และคิดว่าคงต้องหา 2 เล่มแรกมาอ่านแน่ ๆ ครับ หนังสือเล่มนี้อ่านเพลินและได้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็เลยนำมาสรุปข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้เลยละกันครับ

1. คิดแบบพิลึก (Freak) มันคือการคิดไม่เหมือนกับคนอื่น เช่น โดยทั่วไปเวลานักฟุตบอลยิงลูกโทษ เขามักจะยิงไปมุมใดมุมหนึ่งของประตู ทั้ง ๆ ที่ตามสถิติแล้ว การยิงไปตรงกลางประตูที่ผู้รักษาประตูยืนอยู่ในตอนแรก มีโอกาสเข้ามากกว่าการยิงไปมุมใดมุมหนึ่งอีก (เพราะผู้รักษาประตูก็มักจะพุ่งไปมุมใดมุมหนึ่งอยู่แล้ว) แต่หากใครคิดแบบพิลึก ยิงไปกลางประตู แล้วผู้รักษาประตูไม่พุ่งไป แต่ยืนรับอยู่กลางประตูเลย เขาจะโดนต่อว่าอย่างมาก ว่าทำอะไรเนี่ย ยิงไปให้เขายืนรับนี่นะ (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตามสถิติมันน่าจะทำแบบนั้นก็ตาม) นั่นจึงทำให้นักฟุตบอลส่วนใหญ่ตัดสินใจยิงไปมุมใดมุมหนึ่งมากกว่านั่นเอง

2. คำสามคำที่พูดยากที่สุดคือ “ผม/ฉัน ไม่รู้” คนเราไม่รู้ในหลาย ๆ เรื่องแต่มักจะไม่ค่อยยอมรับ เรายินดีที่จะเดาสุ่มไปเรื่อย หรือแม้กระทั่งแสดงว่าตัวเองเป็นผู้รู้เรื่องนั้น ๆ

3. ก่อนที่เราจะหาคำตอบ เราต้องให้แน่ใจก่อนว่า “ปัญหาที่เราต้องการจะแก้คืออะไร” นี่คือกลยุทธ์ที่โคบายาชิ ใช้ในการทำลายสถิติโลกในการแข่งขันการกิน Hot dog คือ เขาไม่ได้มาตั้งหน้าตั้งตากินให้มันเร็ว ๆ แต่ เขาเริ่มจากคำถามว่า จะทำอย่างไรให้กิน Hot dog ให้ได้เยอะที่สุด (เขาหัก Hot dog ออกเป็นสองส่วน เพราะกินง่ายกว่า และเขากินขนมปังแยกจากไส้กรอก แถมมีการเอาขนมปังไปจุ่มน้ำก่อนกินอีกต่างหาก ซึ่งมันไม่ใช่วิธีการกิน Hot dog แบบคนปกติเขากินกัน)

4. นักคิดตัวจริงจะมองหาหนทางใหม่ ๆ จากการพิจารณาปัญหาเดิม ๆ ที่มีคนพิจารณาไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้ แบร์รี มาร์แชลล์ แพทย์ชาวออสเตรเลีย พบว่าสิ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ไม่ใช่ความเครียดและอาหารรสเผ็ด ที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันมาก่อน

5.  เราควร “คิดแบบเด็ก” นั่นคือ การเล่นสนุก การคิดแบบเล็ก ๆ เช่น บางทีปัญหาจากการศึกษา หลายกรณี มันเกิดจากการที่เด็กสายตาสั้น แค่ซื้อแว่นให้ ก็ช่วยเรื่องการศึกษาเด็กได้มหาศาลแล้ว หรือ ความกล้าในการตั้งคำถาม

6. ควรค้นหาสิ่งที่จูงใจผู้คน บางทีแรงจูงใจที่เราคิดอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เช่น ถ้าเราอยากประหยัดพลังงาน สิ่งที่จูงใจ ไม่ใช่ ข้อความที่บอกว่าการประหยัดพลังงานจะช่วยสิ่งแวดล้อม แต่เป็นข้อความทำนองว่า เพื่อนบ้านเขาทำกันทั้งนั้น ต่างหาก

7. การคิดพิลึกอาจจะทำให้เรามองเห็นอะไรดี ๆ อีกมาก อย่างเช่นกรณีของกษัตริย์โซโลมอน ที่ตัดสินว่า ใครจะเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็ก (มีผู้หญิง 2 คน ทะเลาะกันว่าเป็นแม่ของเด็กทารกคนหนึ่ง) โดยตัดสินว่า เขาจะผ่าเด็กออกเป็น 2 ท่อน ใครเห็นด้วยบ้าง คนหนึ่งบอกเห็นด้วย อีกคนหนึ่งบอก งั้นไม่เป็นไร ยกลูกให้อีกคนเถอะ ซึ่งทำให้กษัตริย์โซโลมอนรู้เลยว่า คนที่ยอมยกลูกให้อีกคน ย่อมเป็นแม่ที่แท้จริง เพราะไม่มีแม่ที่แท้จริงคนไหนจะยอมให้ลูกตัวเองถูกผ่าแบ่งครึ่ง หรือกรณีของ email ที่หลอกเอาเงินคนอ่าน คนเขียนตั้งใจเขียนให้เห็นชัด ๆ ว่านี่คือ email หลอกเอาเงิน เพราะเขาต้องการให้มีแต่เฉพาะคนที่ไม่มีความรู้เท่านั้นที่จะติดต่อเขามา ไม่งั้นงานเขาจะหนักมากกับการที่ต้อง deal กับคนจำนวนมาก

8. วิธีที่จะโน้มน้ามคนที่ยึดมั่นในความคิดของตัวเอง 1) เข้าใจว่าการโน้มน้าวเป็นเรื่องที่ยาก 2) จำไว้ว่า เราเป็นเพีียงผู้เสนอ แต่อีกฝ่ายเป็นผู้ตัดสินใจ 3) อย่าคิดว่าข้อเสนอของเราสมบูรณ์แบบ 4) ยอมรับจุดแข็งของข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม 5) เก็บคำดูถูกไว้ในใจ 6) ใช้วิธีการเล่าเรื่อง

9. บางที การยอมแพ้ก็มีข้อดี ลองนึกถึงกรณีเครื่องบิน Concorde ที่ทั้งรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศส ไม่ยอมแพ้ ดันทุรังทำต่อ ทั้ง ๆ ที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าไม่คุ้ม หรือ การส่งกระสวยอวกาศ Challenger ที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เนื่องจาก NASA ดื้อดึงที่จะส่งกระสวยขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่มีคนทักท้วงว่าอันตราย

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *