หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มเดียวที่เป็นภาษาอังกฤษ ที่ผมซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือล่าสุดในปี 2562 นี่แหละครับ เหตุผลที่ซื้อมาเล่มเดียว ก็เพราะมันยังมีหนังสือที่ผม “ดอง” ไว้อยู่ที่บ้านอยู่ตั้งเยอะที่ยังไม่ได้อ่าน และส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษซะอีก เลยคิดว่าไม่อยากจะซื้อมาเพิ่ม
แต่ต้องบอกว่า เล่มนี้ผมตัดสินใจไม่ผิดจริง ๆ นอกจากจะอ่านง่ายและเพลิดเพลินแล้ว มันยังมีข้อคิดหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการดำเนินชีวิตเรา
ชื่อหนังสือคือ The Happiness Equation หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า สมการของความสุข คนแต่งคือ Neil Pasricha ซึ่งเอาจริง ๆ ผมก็ยังไม่เคยอ่านงานของเขาเลย (แต่ต่อไปคงติดตามแล้วล่ะครับ) อ่านแล้วจึงรู้ว่าเขาจบ MBA จากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard
เอาล่ะครับ เกริ่นมาพอสมควรแล้ว ขอเข้าไป Review หนังสือเล่มนี้เลยละกันครับ หนังสือเล่มนี้เขาบอกว่ามันมีหลักการเพียง 9 ข้อที่จะทำให้เรามีความสุข ดังต่อไปนี้
1. เราต้องมีความสุขก่อนเราถึงได้ความสำเร็จ (Be happy first)
ข้อนี้ คนส่วนใหญ่มักจะคิดกลับกัน คือ คิดว่า ถ้าเราทำงานได้ดี เราจึงจะสำเร็จ และเมื่อเราสำเร็จ เราถึงจะมีความสุข แต่จริง ๆ ลำดับมันสลับกัน มันต้องเรามีความสุขก่อน แล้วเราถึงจะทำงานได้ดี และเมื่อเราทำงานได้ดี เราถึงจะสำเร็จ
2. ทำเพื่อตัวเอง (Do it for you)
ข้อนี้ฟังดูแล้วมันจะแนว ๆ เห็นแก่ตัวไหมนะ ไม่ใช่เลยครับ เขาแนะนำอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่านำไปคิดต่อ เช่น ถ้าเราเอาแต่ตั้งเป้าหมายที่มาจากภายนอก เช่น ต้องการเงินเดือนขึ้น ต้องการตำแหน่งขึ้น แบบนี้ในที่สุดเราจะเหนื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เราควรต้องใช้แรงจูงใจภายในในการผลักดันตนเอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทำเพื่อตัวเองนั่นแหละครับ ในข้อนี้เขายังบอกอีกว่า บางครั้ง เวลาที่เราทำอะไร เพราะเราชอบ เราจะทำได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่พอเราทำเพื่อหวังเงิน เรากลับรู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำขึ้นมาทันที ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นงานเดิม ๆ นั่นแหละ เพราะเรากลายเป็นทำเพื่อเงิน ไม่ได้ทำเพื่อความชอบของตัวเองซะแล้ว
3. จำไว้ว่าเราถูกลอตเตอรี่แล้ว (Remember the lottery)
เวลาที่เราท้อใจ จำไว้ว่า เรายังดีกว่าคนจำนวนมากในโลกนี้ เอาง่าย ๆ ถ้าท่านมีเวลามาอ่านบทความนี้ ก็แสดงว่า ท่านไม่ได้ยากจนมากมายจนกระทั่งไม่มีจะกินแน่นอน หนังสือบอกว่าถ้าเราคิดได้แบบนี้ เราจะมีความสุข จำไว้ว่า เราได้ถูกลอตเตอรี่แล้ว หมายถึงว่าเราดีกว่าคนอื่น ๆ ตั้งเยอะแล้วนั่นเอง
4. อย่าเกษียณ (Never Retire)
คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า ให้ทำงานหนักไว้ก่อน แล้วตอนเราเกษียณ เราจะสบาย แต่หนังสือเล่มนี้กลับบอกว่าอย่าเกษียณ เพราะความสุขของคนเรามันอยู่ที่การที่เราได้ทำงานที่เรารักมากกว่า ดังนั้น Model ที่ทนทำงานที่ไม่ชอบมา 30 ปีเพื่อหวังจะสบายได้ทำงานที่ชอบหลังเกษียณอาจจะไม่ work นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเราจะถูกบังคับให้เกษียณจากงาน แต่ก็อย่าหยุดทำงาน หากเรายังอยากมีความสุขอยู่ ขอแค่เป็นการทำงานที่เรารักก็พอ
5. ให้คิดถึงคุณค่าของเวลาของเรา (Overvalue You)
บางคนอิจฉาคนอื่นที่ได้เงินเดือนหรือรายได้มากกว่าเราไม่รู้กี่เท่า แต่ลองคิดดูดี ๆ นะครับ ถ้าเราหารจำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้เพื่อแลกรายได้เหล่านั้นมา บางทีแล้ว เราอาจจะได้รายได้ต่อชั่วโมงการทำงานมากกว่าเขาก็ได้ บางทีเราที่ได้เงินน้อยกว่า แต่ได้เวลาไปทำสิ่งที่เรารักมากกว่าไม่รู้กี่เท่า อาจจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าก็ได้
6. หาเวลาว่าง (Create Space)
หนังสือเล่มนี้แนะนำว่า เราควรหาเวลาว่างไปทำสิ่งที่ตัวเองรักบ้าง คราวนี้ปัญหาคือจะหาได้อย่างไร มีเทคนิคดี ๆ อยู่ 3 ประการครับ คือ 1) ให้เราลดการตัดสินใจในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย ๆ ลง นี่คือเหตุผลที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ใส่เสื้อสีเดียวแบบเดียวกันเกือบทุกวัน เพราะเขาจะได้ไม่ต้องเอาสมองมานั่งคิดว่า วันนี้จะใส่ชุดสีอะไร ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้ารวม ๆ กันแล้ว เราจะได้เวลากลับมาอีกเยอะ 2) ให้ตั้ง deadline ให้เร็วขึ้น เราจะทำงานนั้นเสร็จเร็วขึ้น ตามที่ Parkinson’s Law บอกไว้ว่า งานมันจะขยายไปตามเวลาที่มีอยู่ เช่น ให้เวลา 1 อาทิตย์ก็จะใช้เวลา 1 อาทิตย์ทำงานนั้นจนเสร็จ แต่ถ้าเราให้เวลา 3 วัน เราก็จะทำงานนั้นเสร็จ 3 วัน โดยคุณภาพอาจจะเท่ากันเลย ดังนั้น อย่าให้เวลามากเกินไป และ 3) อย่าให้ใครมาแย่งเวลาเรา อย่างในหนังสือเขายกตัวอย่างว่า เราไม่จำเป็นต้องตอบทุก email เพราะถ้าทำแบบนั้น เราจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลย
7. ให้ทำทันที (Just Do It)
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เราต้องมีความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Can do) ก่อน เราถึงจะอยากทำสิ่งนั้น (Want to do) และเราจึงเริ่มทำสิ่งนั้น (Do) ซึ่งหนังสือเล่มนี้บอกว่าผิด จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็นขั้นตอนแบบ 1 – 2 – 3 แบบนั้น แต่มันเป็นวงกลม คือ เราอาจจะเริ่มทำก่อน (Do) แล้วเราถึงรู้ว่า เอ นี่เราก็ทำได้นี่หน่า (Can do) แล้วจึงทำให้เราอยากทำสิ่งนั้นอีก (Want to do) ดังนั้น อยากทำอะไร บางทีให้เราเริ่มทำก่อน อย่ามัวแต่รีรอจนกระทั่งเราไม่ได้เริ่มสักที
8. เป็นตัวของตัวเอง (Be You)
เคยมีคำกล่าวว่า อย่าพยายามเป็นคนอื่น เพราะ คนอื่น มันมีคนเป็นหมดแล้ว มีแต่ “เรา” นี่แหละที่ไม่สามารถมีใครเป็น “เรา” ได้เท่าเราอีกแล้ว ความสุขจะเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด และ สิ่งที่เราทำ มันสอดคล้องกัน และถ้าอยากรู้ว่าแล้ว สิ่งที่เป็นเรานี่คืออะไร มีบททดสอบ 3 อย่างคือ 1) วันเสาร์เช้าเราอยากทำอะไร เวลาที่เราไม่ต้องมีอะไรทำ (The Saturday Morning Test) 2) ให้เราลองไปทำสิ่งนั้นดู หรือไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ (The Bench Test) และ 3) ใครคือคนสนิท 5 คนของเราเฉพาะในเรื่องที่เรารัก เรามักจะเป็นค่าเฉลี่ยของ 5 คนนั้น (The Five People Test) ลองดูแล้วเราจะรู้ว่า เรารักที่จะทำอะไร
9. อย่าฟังคำแนะนำ (Don’t Take Advice)
หนังสือเล่มนี้บอกว่า แม้กระทั่งคำแนะนำที่ดี ๆ ถ้าเราสังเกตดู บางทีมันก็ขัดแย้งกัน หนังสือแต่ละเล่มก็พูดเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเราจะต้องรอคำแนะนำ เราจะเริ่มทำอะไรไม่ได้ เราจะมีความสุขได้ยาก ให้คิดเอง แล้วเริ่มทำสิ่งนั้น อย่ามัวแต่รอคำแนะนำ
ก็ต้องเรียกว่าเป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก ๆ เล่มหนึ่งเลยทีเดียว หลาย ๆ Idea ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่มันก็สอดคล้องสอดรับกันอย่างดี และจัดว่าเป็นหนังสือที่นอกจากให้ความรู้ ยังสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีในการแสวงหาความสุขในการดำเนินชีวิตของเรา
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
No comment yet, add your voice below!