12 สิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือ The Happiness Equation โดย Nick Powdthavee

ผมเพิ่งได้อ่านหนังสืออีกเล่มจบ ชื่อ The Happiness Equation ซึ่งเหมือนกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมก็อ่านจบไปเหมือนกัน เพียงแต่เล่มนี้มีที่มาที่ไปที่แตกต่างจากหนังสือเล่มแรก (ที่ชื่อเดียวกันที่ที่ผมได้อ่าน)

คือเล่มนี้เกิดจากที่ผมได้ไปอ่านหนังสือภาษาไทยเล่มหนึ่งที่ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือชื่อว่า ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จาก University of Warwick ในประเทศสหราชอาณาจักร

ด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือแนวนี้อยู่แล้ว และเคยเขียนหนังสือมา 3 เล่ม ได้แก่ แค่คิดก็ผิดแล้ว เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง และ ที่เราแย่เพราะโชคร้าย เขาสบายเพราะโชคดี เลยยิ่งชอบอ่านหนังสือทำนองนี้ และต้องบอกว่าเล่มที่ว่ามานี้อ่านแล้ว ชอบมาก ๆ มากขนาดที่ว่ารีบไป Search ว่าอาจารย์ท่านนี้เขียนหนังสือเล่มไหนอีก เลยมาเจอหนังสือเล่มนี้ และกดซื้อเลยโดยไม่ลังเล

แถมยังถามเพื่อน ๆ ใน Facebook ว่าใครรู้จักอาจารย์ท่านนี้บ้าง Inbox ไปคุยกับอาจารย์เขาเลยทีเดียว!

กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ ผมก็ใช้เวลาอ่านไม่นานครับ อ่านแล้วประทับใจ ถึงแม้ว่าบางคน (จากที่ผมอ่าน Review) บอกว่า มีสมการเยอะ ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ แต่ผมกลับชอบ เพราะสิ่งที่เขียนมันยืนยันมาจากงานวิจัยที่อาจารย์ทำจริง ๆ ไม่ได้แค่คิดมาลอย ๆ หรือมีการอ้างอิงจากงานวิจัยระดับโลกเยอะมาก ๆ

เอาเป็นว่า ผมเกริ่นมาซะยาว เล่มนี้ ผมสรุปสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไว้ได้ดังนี้ครับ

1. ในกรณีที่เรามีประสบการณ์มามากพอแล้ว เวลาเราตัดสินใจเรื่องอะไร เราควรเชื่อสัญชาตญาณของเราจะดีกว่า แต่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น เราอย่าไปเชื่ออารมณ์ของเรามาก

2. เรามักจะมีแนวโน้มที่จะมองในเชิงบวกกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่เราไม่ได้เป็น

3. จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้อยากรวยหรอก เราอยากมีเงินมากกว่าคนอื่นเท่านั้น

4. จริง ๆ แล้ว เงินก็สามารถซื้อความสุขได้จริง ๆ นั่นแหละ

5. งานวิจัยพบว่าคนที่เดินทาง 23 นาทีไปทำงานหรือที่ใดที่หนึ่ง (ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการเดินทางในประเทศเยอรมัน) จะต้องการผลตอบแทนมากกว่าประมาณ 19% เพื่อชดเชยการเดินทางนี้

6. งานวิจัยพบอีกว่า การแต่งงานให้ความสุขเหมือนกับได้เงินสด 3,500 ปอนด์ แต่เราต้องการเงินสดถึง 8,000 ปอนด์ เพื่อชดเชยความทุกข์ที่เกิดจากการหย่าร้าง (ในปีแรก)

7. ในการแต่งงานนั้น ความสุขจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในปีแรกหลังจากแต่งงาน แล้วจะอยู่ต่อแค่เพียง 2 ปีหลังจากแต่งงานเท่านั้น!

8. คนทั่วไปจะมีความสุขก่อนที่จะมีลูก และความสุขจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปีที่ลูกเกิด แต่พอหลังจากมีลูกแล้ว ความสุขจะลดลงตั้งแต่ปีแรกที่ลูกเกิดเลย และเราจะสร้างความคุ้นเคยกับความสุขที่น้อยลงนั้นเมื่อลูกเกิดมาแล้ว 5 ปี

9. เราจะรู้สึกดีขึ้นเวลาเราตกงาน เมื่อเราทราบว่าคู่ของเราก็ตกงานเหมือนกัน!

10. เช่นเดียวกัน เราจะรู้สึกไม่แย่นักถ้าเราอ้วน ในขณะที่คนที่เรารักอ้วนเหมือนกัน!

11. งานวิจัยพบว่า ข้อความที่จะช่วยให้คนร่วมกิจกรรมที่ช่วยสิ่งแวดล้อม คือ ข้อความว่า “มาร่วมมือกันกับคนอื่น ๆ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกัน” มากกว่าข้อความประเภทอื่น ๆ

12. งานวิจัยยังพบอีกว่า เราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ถ้าเพื่อนบ้านที่อยู่ในระยะทาง 1 ไมล์ห่างจากบ้านเรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น

จริง ๆ หนังสือเล่มนี้ยังมีสถิติ ผลวิจัย อะไรอีกมากมายที่น่าสนใจมาก ๆ นะครับ อยากแนะนำให้ลองอ่านกันดู ถึงแม้ว่าบทแรก ๆ จะมีพวกเรื่องสถิติวิจัยเยอะหน่อย ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการอ่านเสียไปแต่ประการใด ลองอ่านกันดูครับ

อ้อ อาจารย์ผู้แต่งหนังสือได้พูด TED Talk ในหัวข้อนี้เลยครับ ลองกดดูได้ตาม Link นี้ได้ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *