ข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากหนังสือช้างกูอยู่ไหน

ขอเริ่มต้นด้วยที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ มีช่างไม้อยู่คนหนึ่ง เป็นช่างไม้ที่แกะสลักช้างได้งดงามมาก ผู้คนก็สงสัยอยากรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะแกะสลักช้างได้งดงามแบบนี้บ้าง ช่างไม้คนนี้ตอบว่า ก่อนอื่นเราต้องหาไม้ดี ๆ มาให้ได้เสียก่อน เมื่อได้มาแล้ว ก็แค่แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป เท่านี้คุณก็จะได้ช้างแกะสลักแล้ว

ความหมายของสิ่งนี้ก็คือ หากเราต้องการเป็นอะไร สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ เลิกทำสิ่งที่ไม่ใช่เสีย เพราะหากคุณยังมัวทำโน่นทำนี่ที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากจะเป็น หรือไม่เกี่ยวกับเป้าหมายของเราเลย สุดท้ายแล้วมันก็ยากที่เราจะไปถึงจุดหมายนั้น ๆ

สำหรับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมีคำแนะนำไปในลักษณะนี้เช่นกัน ผมได้เลือกบางบทของเนื้อหามาสรุปไว้คร่าว ๆ ดังนี้ครับ

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับงาน

ชายผู้ถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงาน

เป็นเรื่องราวของ Steve ซึ่งทำงานเป็น Recruiter ของบริษัทแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเขาได้เจอกับ Profile ของชายคนหนึ่ง ที่ดูแล้วน่าสนใจและเหมาะสมกับตำแหน่งที่เขากำลังต้องการพอดี เขาจึงติดต่อชายคนนี้ไปเพื่อนำเสนองานนี้ ที่ให้ทั้งตำแหน่งที่สูงกว่า และผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก แต่ชายคนนี้กลับปฏิเสธแล้วบอกว่า “I already made it to the top” ซึ่งยิ่งทำให้ Steve รู้สึกแปลกใจมากขึ้นไปอีก เพราะชายคนนี้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงเลย

ชายคนนั้นอธิบายเพิ่มเติมว่า งานปัจจุบันที่เขาทำอยู่นั้น เป็นงานที่เขารู้สึกสนุก และมีความสุขที่ได้ทำ เพื่อนร่วมงานก็ดี ผลตอบแทนและสวัสดิการก็อยู่ในระดับที่สูงเพียงพอแล้ว ที่สำคัญ เขาไม่เคยพลาดช่วงเวลา และงานสำคัญ ๆ ของครอบครัวและลูก ๆ ของเขาเลย ในขณะที่งานใหม่ที่มีผลตอบแทนสูงกว่านั้น ก็จำเป็นที่จะต้องเอาเวลาส่วนตัวไปแลก ซึ่งสำหรับเขาแล้ว มันไม่คุ้มเอาเสียเลย

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า จุดสูงสุดในหน้าที่การงานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง บางคนอาจอยากเปิดกิจการของตัวเอง หรือบางคนอาจแค่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองรักและมีเวลาให้กับครอบครัว ดังนั้นลองพิจารณาถึงเป้าหมายของตัวเราเองดู เพื่อที่เราจะได้เลือกเส้นทางที่เหมาะสมให้กับชีวิตของเรา.

หนึ่งทักษะที่คนไทยขาดแคลน

คุณรุตม์เคยมีเจ้านายฝรั่งคนหนึ่ง ในสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่ Reuters มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คุณรุตม์ไปขอคำแนะนำกับเจ้านายว่า อยากขอคำแนะนำเรื่อง Time Management และเจ้านายคนนั้นก็ตอบว่า

“มีแต่คนนิสัยดี ๆ เท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการจัดการเวลา คนที่เกเรจะไม่ค่อยมีปัญหานี้ เพราะพวกเขาปฏิเสธไปหมดทุกอย่าง”

สิ่งที่เจ้านายคุณรุตม์ต้องการจะบอกก็คือ คนไทยมักมีนิสัยขี้เกรงใจ และไม่ค่อยกล้าปฏิเสธงานที่ถูกร้องขอ แม้ว่าตัวเองจะมีงานอยู่แล้วเต็มมือก็ตาม ซึ่งนั่นก็จะทำให้เกิดปัญหากับการบริหารจัดการเรื่องเวลา ดังนั้นเราต้องรู้จักพูดปฏิเสธให้เป็น หากสิ่งไหนทำไม่ได้ หากสิ่งไหนทำไม่ทัน ก็ควรต้องปฏิเสธเสียบ้าง อย่าตอบตกลงไปเสียหมด เพราะสุดท้ายแล้วหากเราทำมันไม่ได้ ก็จะไม่เกิดผลดีต่อใครเลยสักฝ่ายเดียว

อะไรคือ Super Power ของคุณ

ในที่นี้ก็คือจุดแข็งของเรา หรือเรื่องที่เราสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยมเหนือกว่าใคร ๆ ลองถามตัวเองดูว่า สิ่งใดคือ Super Power ของเรา และเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องคิดหาวิธีที่จะนำจุดแข็งข้อนั้น ๆ มาพัฒนาการทำงานของตัวเราให้ดียิ่งขึ้น

5 ปัจจัยในการสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมของ Google

  1. ต้องทำให้รู้สึกปลอดภัย คือสามารถพูดคุยกัน สอบถามกัน เสนอแนะกัน ได้ในทุกเรื่อง
  2. ไว้วางใจกันได้ คือการเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีม ว่าทุกคนจะรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี
  3. มีความชัดเจน คือมีเป้าหมายชัดเจน หน้าที่ชัดเจน บทบาทชัดเจน
  4. งานนั้นมีความหมาย คืองานที่ทำนั้นมีคุณค่าทางจิตใจต่อทุกคนในทีม
  5. มีผลกระทบคือทุกคนในทีมเชื่อว่างานที่ทำนั้นจะส่งผลออกไปในวงกว้าง

นิสัย 10 ข้อของเจ้านายที่ดี

คุณรุตม์เอาบทความนี้มาจาก Fast Company ครับ ประกอบไปด้วย

  1. สื่อสารชัดเจน
  2. ไว้ใจลูกน้อง
  3. เสมอต้นเสมอปลาย
  4. เข้าใจงานที่ลูกน้องทำ
  5. เปิดโอกาสให้ลูกน้องทำผิดพลาด
  6. รู้เนื้อรู้ตัว รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
  7. จัดการเจ้านายตัวเองได้
  8. เข้าอกเข้าใจลูกน้อง
  9. เชื่อในการพัฒนาตัวเอง
  10. หนุนหลังลูกน้อง

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์

เราเป็นคนที่อยู่ด้วยยาก

คนเราทุกคนย่อมมีนิสัยบางอย่างที่ไม่ดีนักซ่อนอยู่ ดังนั้นอย่าคิดว่าตัวเองมีแต่ข้อดี อย่าอยู่แต่ในฟองอากาศของตัวเอง แล้วเอาแต่คิดว่าปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง แล้วคิดอยู่เสมอว่า เราเองเป็นคนที่อยู่ด้วยยาก และปัญหาก็อาจเกิดมาจากเราก็ได้ เมื่อเราคิดได้แบบนี้ ตัวเราเองก็จะพร้อมที่จะเป็นคนเอ่ยปากขอโทษก่อน

ความรักไม่ใช่เรื่อง 50-50

การใช้ชีวิตคู่ ไม่ใช่เรื่องของความเท่าเทียมกันไปเสียหมด อย่าใช้ความคิดที่ว่า ฉันทำเท่านี้ เธอก็ต้องทำเท่านี้ ฉันให้เธอเท่านั้น เธอก็ต้องให้ฉันเท่านั้นด้วย หากเอาแต่คิดแบบนี้ ชีวิตคู่ก็คงจะอยู่ด้วยกันได้ยาก

ลองปรับเปลี่ยนมุมมองให้เป็น 90-10 ดูบ้าง หากคนสองคนต่างพร้อมที่จะทำให้อีกคนหนึ่ง 90 ส่วน แล้วหวังว่าจะได้ตอบแทนกลับมาเพียงแค่ 10 ส่วน มั่นใจได้เลยว่าชีวิตคู่ของพวกเขาย่อมมีแต่ความสุข

ดังนั้น อย่าไปเรียกร้องความยุติธรรมในความสัมพันธ์

10% ของงานเท่ากับ 50% ของลูก

หากโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน คุณทำงาน 10 ชั่วโมง โดยที่จะกลับถึงบ้านตอน 1 ทุ่ม เพื่อใช้เวลา 2 ชั่วโมงอยู่กับลูก เพราะลูกของคุณจะเข้านอนตอน 3 ทุ่ม

การที่คุณอยู่ทำงานต่ออีก 1 ชั่วโมง ก็เท่ากับคุณทำงานเพิ่มได้อีก 10% ของวันนั้น แต่ 1 ชั่วโมงที่หายไปนั้น เทียบเท่ากับเวลา 50% ที่คุณจะมีให้ลูกในแต่ละวัน

เมื่อใช้มุมมองแบบนี้ เราคงไม่อยากเสียเวลา 50% ที่จะมีให้ลูก ไปแลกกับเวลาเพียง 10% ของการทำงานหรอกใช่ไหมครับ

ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับสังคม

เราแก่เกินกว่าจะมาทะเลาะกันในเรื่องพวกนี้แล้ว

คุณรุตม์บอกว่า เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ก็เริ่มรู้สึกไม่อยากเสียเวลาไปกับการทะเลาะกับคนอื่น ๆ ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่ด้วยกัน 3 ประการ

  1. เวลาไม่ได้เหลือมากนัก อย่าเอาเวลามาใช้กับเรื่องพวกนี้เลย
  2. บางทีทั้งสองคนก็เป็นฝ่ายถูกทั้งคู่ เพียงแต่ใช้มุมมองในการพิจารณาคนละแบบเท่านั้น
  3. เมื่อเถียงกันเสร็จแล้วก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น

ส่วนที่ 4 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับตัวเอง

โรคซึมเศร้า

  1. โรคนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้
  2. ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. เมื่อก่อนคนไทยไม่ได้เป็นโรคนี้กันมาก เพราะสังคมไม่ได้บีบคั้นเรื่องการทำงานมากแบบตอนนี้
  4. เราอาจจะเป็นอยู่แต่ไม่รู้ตัวก็ได้

ดังนั้นต้องดูแลตัวเองให้ดีทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เพื่อที่จะช่วยป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้

ยังมีอีกประโยคหนึ่งที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า อุปสรรค ความกังวล หรือความกลัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเปรียบเสมือนวัคซีน ก็คือมันจะเจ็บตอนฉีด และไม่มีใครต้องการความเจ็บปวดนั้น แต่สุดท้ายแล้ว ในระยะยาวมันจะส่งผลดีต่อชีวิตของเรา และช่วยทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นด้วย

โดยรวมเป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ และผมก็ชอบมาก ๆ เช่นกันครับ แนะนำให้ลองไปหาซื้อมาอ่านกันดูนะครับ

*ขอขอบคุณ Page Lesson One ที่ช่วยสรุปจาก Nopadol’s Story Podcast ด้วยนะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify หรือ Youtube

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *