10 ข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น

ต้องบอกว่า หนังสือเล่มนี้ ซื้อมาเพราะได้ยินหลายคนพูดถึงว่าดีมาก ยิ่งผมเป็น Admin กลุ่ม Online Book Club ที่ชื่อว่า Bookoins ใน Facebook ก็ยิ่งเห็นคนกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้อยู่เรื่อย ๆ จนจุดหนึ่งคิดว่า ถ้าคนพูดถึงมากขนาดนี้ คงต้องอ่านแล้วล่ะ

ก็ไปซื้อมาอ่าน และต้องบอกว่าประทับใจมากครับ เข้าใจเลยว่า ทำไมคนถึงชอบกัน

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์เกตุวดี Marumura ครับ อาจารย์เขียนได้น่าสนใจมาก มีกรณีศึกษาเยอะจริง ๆ

ใจความของหนังสือเล่มนี้ พูดถึงแนวคิดที่เรียกว่าริเน็น หรือ ปรัชญาในการทำธุรกิจขององค์กรในญี่ปุ่น (คือไม่ได้ทุกองค์กรจะมีริเน็นนะครับ แต่ในหนังสือยกตัวอย่างองค์กรที่มีริเน็นให้ฟัง)

เอาเป็นว่า อ่านแล้วอมยิ้ม ประทับใจ และเกิดแรงบันดาลใจแบบว่า ถ้าจะทำธุรกิจ เราอยากทำธุรกิจแบบนี้แหละ ชอบมากจนกระทั่งคิดว่า อยากมาเขียนสรุปให้ทุกท่านอ่านด้วยเลย

ขอเข้าบทเรียนที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้กันเลยนะครับ

1. ริเน็นประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ 1) บริษัทดำรงอยู่เพื่ออะไร (Mission) 2) บริษัทมุ่งไปทิศทางใด (Vision) และ 3) บริษัทจะนำเสนอคุณค่าอย่างไร (Value) ซึ่ง 3 สิ่งนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างจากบริษัทอื่น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ “ความเชื่อและแนวคิดของผู้ก่อตั้งบริษัทนั้น” ดังนั้นแต่ละบริษัทจึงมีริเน็นที่แตกต่างกันออกไป

2. ถ้าอยากสร้างริเน็น เราควรถามคำถาม 3 ข้อดังต่อไปนี้ 1) เราเห็นลูกค้ามีความสุขเมื่อไร เพราะเหตุใด 2) เราเชื่อมั่นในอะไร และ 3) อะไรคือสิ่งที่เราพร่ำสอนและพยายามจะบอกพนักงาน

3. บริษัทมี 2 ประเภทคือ บริษัทแบบต้นไผ่ กับ บริษัทแบบต้นสน โดยบริษัทแบบต้นไผ่ จะเน้นกำไรและการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเน้นผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ในขณะบริษัทแบบต้นสนจะเน้น การทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยพัฒนาสังคม และจะเน้นพนักงานเป็นหลัก

4. ผลลัพธ์ที่น่าสนใจของบริษัทต้นสนคือ 1) ผลประกอบการดีขึ้นทุกปี 2) ลูกค้าชื่นชอบบริษัทมาก 3) พนักงานไม่ลาออก 4) หาพนักงานใหม่ได้ง่าย

5. ลักษณะการดำเนินงานของบริษัทต้นสน 1) ไม่ชอบลดราคาหรือทำโปรโมชั่น 2) ไม่ชอบโฆษณา 3) พนักงานไม่ค่อยลาออก 4) ลูกค้าไม่ได้มาก่อน

6. บริษัทต้นสนจะมี 2 องค์ประกอบคือ รากต้นสน ซึ่งเปรียบเหมือนปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ และ กิ่งต้นสน ซึ่งรวมถึง ลูกค้า พนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้นไปจนถึงสังคม

7. ในด้านพนักงานนั้น บริษัทแบบต้นไผ่ จะมองพนักงานเป็นต้นทุน ถ้าผลประกอบการไม่ดีก็จะไล่พนักงานออก ในขณะที่บริษัทแบบต้นสน จะมองพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุดในบริษัท มองเหมือนเป็นคนในครอบครัว และเป็นกำลังสำคัญของบริษัท

8. ในด้านคู่ค้า บริษัทแบบต้นไผ่จะพยายามลดหรือต่อรองราคามากที่สุด ในขณะที่บริษัทแบบต้นสนจะมองคู่ค้าเป็นคู่คิดและต้องการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว

9. ในด้านลูกค้า บริษัทแบบต้นสน จะมุ่งมั่นผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อทำให้ลูกค้ามีความสุขอย่างแท้จริง และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อนลูกค้า และเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมมากกว่าลูกค้าใหม่

10. ในด้านสังคม บริษัทแบบต้นสนจะจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง เน้นความกตัญญูต้องผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบ

ผมอ่านแล้วมีประโยคอันหนึ่งที่ผมชอบมากคือ คนทำธุรกิจที่มีริเน็น บอกว่า “เขาอยากมีร้านอายุ 100 ปี มากกว่าร้านที่มี 100 สาขา” ซึ่งบ่งบอกถึงปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมาก

หนังสือเล่มนี้ผมแนะนำให้อ่านนะครับ นอกจากได้ความรู้ในกรณีศึกษาเยอะมากแล้ว ยังได้เห็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ทางฝั่งตะวันตก อาจจะเรียกว่า Sustainability หรือความยั่งยืน แต่สำหรับผม มันลึกไปกว่านั้นอีก มันเหมือนกับว่า ธุรกิจถูกสร้างขึ้นเพื่อคนอื่น มากกว่าเพื่อตัวเอง แต่ผลลัพธ์มันกลับได้ทั้งคู่

เอาเป็นว่า ผมมีแรงบันดาลใจอยากทำธุรกิจโดยมีริเน็นแบบนี้แหละครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *