55 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Quit

1. เรามักจะชื่นชมคนที่เจออุปสรรคแล้วไม่ล้มเลิก แต่เราไม่ชื่นชมคนที่ล้มเลิกเวลาเจออุปสรรค

2. ถ้าเราไม่ศึกษาการตัดสินใจของคนที่ล้มเลิก เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เหตุผลในการตัดสินใจนั้น

3. การล้มเลิกหลายครั้งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราชนะในระยะยาว

4. ความอดทนกับความล้มเลิกคือเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกันเวลาเราตัดสินใจ ถ้าเราอดทน เราก็ไม่ล้มเลิก ถ้าเราล้มเลิกเราก็ไม่อดทน

5. ปกติเวลาเราตัดสินใจ เราต้องทำทั้ง ๆ ที่เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ การล้มเลิกเปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนการกระทำหลังจากเราได้รับข้อมูลชุดใหม่มาเพิ่มเติม

6. ถ้าเราอยากรู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องไม่ล้มเลิกและทำต่อไป การล้มเลิกจะทำให้เราไม่รู้ว่า ถ้าเราทำต่อไปจะเป็นอย่างไร

7. การเปิดทางเลือกให้เราได้ล้มเลิก ทำให้เราได้สำรวจ เรียนรู้ และหาหนทางใหม่ ๆ ที่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่เราจะทำต่อไป

8. ปกติแล้วเวลาเราล้มเลิกในเวลาที่เหมาะสม เรามักจะคิดว่าเราล้มเลิกเร็วเกินไป

9. เวลาที่ยากที่สุดในการล้มเลิกคือเมื่อเรากำลังอินกับเรื่องนั้นมาก ๆ

10. เรามักจะเชื่อว่าการล้มเลิก ทำให้เราบรรลุความสำเร็จได้ยาก ซึ่งหลายครั้งไม่ได้เป็นแบบนั้น การที่เราล้มเลิกสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำให้เรามีเวลาไปทำในสิ่งที่ควรทำและทำให้เราสำเร็จได้เร็วขึ้น

11. เวลาที่เราควรล้มเลิกอาจจะไม่ใช่เวลาที่เราเผชิญความยากลำบาก แต่เป็นเวลาที่เราคาดการณ์ว่าถ้าทำแบบเดิมต่อไป โอกาสที่จะสำเร็จมีน้อยมาก ๆ

12. ลองคำนวณค่าคาดหวังดู ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องสุขภาพ หรือความสุข ก็จะทำให้เราประมาณการได้ว่าเราควรไปต่อหรือพอแค่นี้

13. ถ้าเรารู้สึกลังเลว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้เพราะข้อดีข้อเสียใกล้เคียงกันมาก ส่วนใหญ่แล้วการพอแค่นี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

14. ถ้ามองย้อนกลับมา เรามักจะเห็นคนที่ตัดสินใจช้าเกินไป และเรามักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงรอนานขนาดนั้น แต่ถ้ามีใครตัดสินใจล้มเลิกสิ่งที่เขาทำ เราก็มักจะว่าเขาว่าเป็นที่ล้มเลิกเร็วเกินไปเช่นกัน

15. ผลกระทบทางลบของการสูญเสียที่มีต่อเรามักจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าผลกระทบทางบวกของการได้มาในปริมาณที่เท่ากัน เช่น เสียเงิน 1 ล้าน จะเจ็บปวดในขนาดที่มากกว่า ความดีใจที่ได้เงิน 1 ล้าน

16. เราเกลียดการสูญเสีย เลยทำให้เราเป็นคนที่กลัวความเสี่ยง

17. เมื่อเรากำลังได้อยู่ เรามักจะล้มเลิกได้ง่ายกว่า เพราะเรากลัวที่จะเสียสิ่งที่เราได้ไป เช่น หุ้นขึ้น เรามักจะขายเพื่อล็อคกำไรไว้ เรามักจะล้มเลิกตอนที่เรากำลังนำอยู่

18. เมื่อเรากำลังเสียอยู่ เรามักจะไม่ล้มเลิก เพราะเราเกลียดความสูญเสีย เช่น หุ้นตก เราจะลงทุนต่อและหวังว่าราคาหุ้นจะกลับมา เรามักจะไปต่อตอนที่เรากำลังแพ้อยู่

19. การล้มเลิกที่ทันเวลามักจะทำให้เรารู้สึกว่าเราล้มเลิกเร็วจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เรากำลังสูญเสียอยู่

20. นักเล่นหุ้นที่เชี่ยวชาญก็ยังตัดสินใจผิดพลาด เขาจะตัดสินใจได้ดีเวลาซื้อหุ้น แต่ตัดสินใจผิดพลาดตอนที่ขายหุ้น

21. เวลาเราทำอะไรสักอย่าง เราจะติดตามความก้าวหน้า เพื่อเรียนรู้เสมอ แต่พอเราเลิกทำ เราก็เลิกติดตาม ดังนั้นจึงทำให้เราขาดทักษะของการล้มเลิกไป เพราะเราไม่เคยเรียนรู้จากการล้มเลิกแต่ละครั้งเลย

22. ยิ่งเราเสียมากเท่าไร เราก็ยิ่งทุ่มเททั้งเงิน เวลา หรือทรัพยากรอื่น ๆ ไปยังสิ่งนั้นมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราเสียดายสิ่งที่ลงไปแล้ว เราเรียกสิ่งนี้ว่าการติดกับต้นทุนจม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร หรือแม้กระทั่งระดับรัฐบาล และเกิดขึ้นกับทั้งโครงการใหญ่และโครงการเล็ก หรือแม้แต่กิจกรรมธรรมดา ๆ

23. ยิ่งเราลงทุนลงแรงกับเรื่องใดไปมากเท่าไร เรายิ่งรู้สึกว่ามันยากที่จะล้มเลิกมากเท่านั้น เพราะเรายึดติดกับต้นทุนจมนั่นเอง

24. พอเรายึดติดกับต้นทุนจม เราจึงไม่ล้มเลิก และเรายังลงแรง ลงเวลาเพิ่มเข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนจมเพิ่มขึ้นอีก และก็ทำให้เราเลิกยากไปอีกเรื่อย ๆ

25. ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักต้นทุนจม เราก็ยังเป็นเหยื่อของต้นทุนจมได้อยู่ดี ถึงแม้ว่าเราจะถามตัวเองว่า ถ้าเราไม่ได้ลงทุนลงแรงไปก่อนหน้านี้ เราจะทำสิ่งนั้นหรือไม่ ก็ไม่ช่วยทำให้เราหลุดรอดไปจากกับดักต้นทุนจมได้

26. เวลาเราจะเริ่มทำอะไรก็ตามที่มีความยากและซับซ้อน ให้เราคิดว่าส่วนใดเป็นส่วนที่ยากที่สุด แล้วพยายามจัดการส่วนนั้นให้เสร็จเร็วที่สุด แต่ให้ดูดี ๆ ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริงหรือเปล่า

27. บางทีการที่เราไปทำสิ่งที่ง่าย ๆ ก่อน จะทำให้เรารู้สึกดีว่าเราก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ แต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นการเสียเวลาเปล่า หากงานที่ยาก มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้สำเร็จ

28. ถ้าเราทำสิ่งที่ยากก่อน พอเรารู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราจะเลิกทำสิ่งนั้นได้ง่ายกว่า ที่เราเสียเงิน เสียเวลาไปทำสิ่งที่ง่ายก่อน แล้วสุดท้ายมาทำสิ่งที่ยาก ซึ่งเราจะเสียดายต้นทุนจมที่เราลงไป ทำให้เราเลิกทำได้ยาก

29. เวลาที่เราเจองานที่ยากที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เรามักจะกลับมาทำงานที่ง่ายมากกว่าที่จะล้มเลิก

30. เราควรวางแผนให้ดีว่าจะทำอะไร และตอนไหนเราจะเลิกก่อนเริ่มทำอะไรก็ตาม ทำแบบนี้จะทำให้เราเลิกได้ง่ายขึ้น

31. เราควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้าว่าเราจะเลิกเมื่ออะไรเกิดขึ้น กฎเกณฑ์นี้ควรวัดได้ชัดเจน ทำแบบนี้ความลำบากใจในการเลิกจะลดลง โดยควรจะต้องมีการกำหนดวันและเกณฑ์ให้ชัดเจน เช่น ภายในวันที่ xx หากเราทำได้ไม่ถึง yyy เราจะเลิกทำ

32. การล้มเลิกในสิ่งที่ควรล้มเลิกถือว่าเป็นการกระทำที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่ง ในองค์กร เราสามารถให้รางวัลกับคนที่ล้มเลิกในสิ่งที่ควรล้มเลิกได้

33. เราจะให้คุณค่ากับสิ่งที่เรามีอยู่มากกว่าสิ่งที่เรายังไม่มี โดยสิ่งนั้นเป็นไปได้ทั้งสิ่งที่จับต้องได้และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และสิ่งนี้ก็จะเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่กล้าล้มเลิกสิ่งที่เป็นของเรา เพราะเราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นมากจนเกินไป

34. เราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเทียบแล้ว เรายอมเสียใจกับสิ่งที่เราทำต่อไป ดีกว่าเสียใจกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงมาทำสิ่งนั้น

35. ให้เตือนตัวเองว่า เมื่อไรที่เราบอกว่า เรายังตัดสินใจไม่ได้ จริง ๆ แล้ว มันหมายถึงว่า เราตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเอง

36. ถึงแม้ว่าตอนนี้เรามีข้อมูลเยอะมากที่จะช่วยในการตัดสินใจ เรายังติดกับดักในเรื่องต้นทุนจม หรือความลำเอียงในการตัดสินใจอื่น ๆ

37. สิ่งที่ยากที่สุดในการล้มเลิก คือความเป็นตัวตนของตัวเอง เราจะรู้สึกอึดอัดทันทีหากเราได้รับข้อมูลบางอย่างที่ขัดกับความเชื่อของตัวเอง เพื่อให้ความอึดอัดลดลง เราต้องเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองหรือไม่ก็พยายามปรับมุมมองที่เกี่ยวกับข้อมูลใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่เราเลือกอย่างหลัง

38. เราอยากให้คนอื่นมองตัวเราว่าเป็นคนที่สม่ำเสมอ ดังนั้นอะไรที่เราเคยเชื่อหรือเคยทำ ถึงแม้ว่ามีข้อมูลใหม่เข้ามา เราก็ยังอยากจะเชื่อหรือทำเหมือนเดิม

39. ยิ่งเราถูกประเมินจากบุคคลภายนอกมากเท่าไร แทนที่เราจะมีเหตุผลมากขึ้น เรากลับมีความลำเอียงมากขึ้น เพื่อจะพิสูจน์ว่าตัวเองถูกมาตลอด

40. การมองโลกในแง่ดีจะยิ่งทำให้เราล้มเลิกได้ยากขึ้น

41. ชีวิตเราสั้นเกินกว่าที่จะทำอะไรที่ไม่ควรทำ

42. ถ้ามองในมุมของคนนอก จะเห็นได้ชัดกว่าว่าอะไรควรเลิกได้แล้ว

43. เราควรมีโค้ชในการล้มเลิก คนนี้ควรเป็นคนที่รักเรา แต่กล้าที่จะบอกความจริงกับเราถึงแม้ว่าจะทำให้เรารู้สึกไม่ดีในระยะสั้น และเราควรให้โค้ชในการล้มเลิกพูดความจริงได้เต็มที่

44. อย่าให้คนเริ่มโครงการเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลิกโครงการนั้นไหม เพราะคนเริ่มโครงการจะรักโครงการนั้นและรู้สึกเสียดายเงินและเวลาที่ทุ่มเทลงไปแล้ว

45. การที่ถูกบังคับให้เลิก จะทำให้เราต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ แต่เราควรคิดหาหนทางใหม่ ๆ ก่อนที่จะถูกบังคับให้เลิก

46. ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนลงแรงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราควรจะสำรวจทางเลือกหลาย ๆ ทางก่อน ถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจไปแล้ว เราก็ยังสามารถสำรวจทางเลือกอื่น ๆ ได้ เพราะโลกเปลี่ยน การที่เรามีทางเลือกหลาย ๆ ทางอาจจะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนการตัดสินใจเราได้

47. การที่เราสำรวจทางเลือกอื่น ๆ จะเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงของเราด้วย เราควรมีแผนสำรอง และไม่แน่ว่าแผนสำรองนั้นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมากกว่าแผนแรกที่เราจะทำก็ได้

48. เป้าหมายเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราควรทำ แต่จะกลายเป็นอุปสรรคทันที ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ควรทำ แต่เราจะทำและรู้สึกติดกับเวลาและความพยายามที่เราลงไปแล้วเพื่อวิ่งตามเป้าหมายนั้น

49. เวลาเราตั้งเป้าหมายแบบ ได้ หรือ ไม่ได้ จะทำให้เราไม่ค่อยได้คิดถึงความก้าวหน้าที่เราได้ทำมาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรพิจารณาด้วย

50. พยายามตั้งเป้าหมายย่อย ๆ ด้วย เพื่อให้เราได้เรียนรู้ว่าเราได้มาไกลแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น

51. เวลาเราตั้งเป้าหมาย เราควรเปรียบเทียบถึงสิ่งที่เราจะได้เมื่อเราบรรลุเป้าหมายนั้น กับสิ่งที่เราต้องเสียไปในการเดินตามเป้าหมายนั้น แล้วลองดูว่าคุ้มค่าไหม

52. การตั้งเป้าหมายแบบไม่ยืดหยุ่นเลย ไม่เหมาะกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

53. เวลาตั้งเป้าหมาย เราควรจะมีความยืดหยุ่น ว่าเราจะตามเป้าหมายนั้น “ยกเว้นว่า…” แล้วลองติดตามความก้าวหน้าอยู่เรื่อย ๆ

54. เวลาเราล้มเลิก เรามักจะกลัวอยู่ 2 สิ่งคือ 1) เราล้มเหลว 2) เราเสียเวลา ความพยายาม หรือเงิน ไปเปล่า ๆ

55. เราควรมองว่าเรา “จะ” สูญเสียอะไรต่อไป มากกว่า เราได้สูญเสียอะไรไปแล้ว

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *