15 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Post Corona

ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ ตอนตัดสินใจซื้อมาดูจากชื่อคนแต่งเลยครับคือ Professor Scott Galloway ซึ่งเป็นนักเขียนคนโปรด ต้องบอกว่าผมอาจจะแปลกจากคนอื่นหน่อย ที่ส่วนใหญ่จะรู้จัก Professor Scott จากหนังสือ The Four ซึ่งเป็นเล่มที่โด่งดัง แต่ผมกลับรู้จักจากหนังสือเล่มที่ชื่อว่า The Algebra of Happiness ที่อาจารย์เขาเล่าเรื่องราวของตัวเอง และข้อคิดในการดำเนินชีวิต

เลยได้หยิบเล่มนี้มา ก็ต้องบอกไม่ผิดหวังครับ เพราะเล่มนี้เล่าเรื่องราวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ COVID ผ่านไป

เลยขอนำมาสรุปเป็นข้อ ๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจไว้ดังนี้ครับ

1. COVID-19 จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิด Disruption ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นมาก อะไรที่ปกติต้องใช้เวลา 10 ปีถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะเหลือแค่เป็นหลายสัปดาห์เท่านั้นเอง (เช่น ECommerce เป็นต้น)

2. ในทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ เพราะคนเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมไป

3. หลังจากผ่าน COVID-19 ไปแล้ว บริษัทใดที่แข็งแรงจะยิ่งแข็งแรงขึ้นไปอีก เพราะบริษัทที่อ่อนแอกว่าอยู่ไม่รอด

4. ในช่วงวิกฤตินี้ เงินสดคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้อยู่รอดคือกลุ่มที่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นตัวทุนผันแปรมากกว่าต้นทุนไม่ผันแปร ยกตัวอย่างเช่น Uber จะอยู่รอดได้ง่ายกว่าบริษัทเช่ารถอื่น ๆ ที่มีรถเป็นของตัวเอง

5. ยุคของ Product จะมาแทนที่ยุคของ Brand คนจะไม่ค่อยสนใจเรื่อง Brand มากสักเท่าไร

6. บริษัทที่จะอยู่รอดและแข็งแกร่งจะอยู่ในกลุ่ม The Four ซึ่งได้แก่ Amazon Apple Facebook และ Google และอาจจะรวมถึง Microsoft ด้วย บริษัทเหล่านี้จะขยายตัวไปในหลาย Sector และจะผูกขาดตลาด

7. Amazon ใช้กลยุทธ์การเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของตัวเองให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ (เช่นการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ Data Center ให้กลายเป็น Service AWS ที่ให้บริการกับคนอื่นจนกลายเป็นธุรกิจหลักของ Amazon)

8. อยากเป็นบริษัทที่มีมูลค่าระดับล้านล้านเหรียญ จะต้องมีปัจจัยขับเคลื่อน 6 ปัจจัยได้แก่ 1) ความดึงดูดต่อสัญชาติญาณของมนุษย์ เช่นการตอบความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ของ Google 2) ตัวเร่ง เช่นความสามารถในการดึงคนเก่งเข้ามาสู่บริษัท 3) ความสมดุลระหว่างการเติบโตกับกำไร คือต้องโตด้วย กำไรเยอะด้วย 4) การรวมสินค้าและบริการและทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น Apple ทำระบบ Subscription ของ Video Streaming 5) การควบรวมในแนวตั้ง เช่น Apple มีทั้ง App Store และ iPhone 6) มีผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งอยู่นานยิ่งดี (Benjamin Button products) เช่น Spotify ยิ่งมีคนมาลงดนตรีเยอะ คนฟังยิ่งเยอะ ยิ่งคนฟังเยอะ ก็ยิ่งทำให้สามารถทำระบบ Personalization ได้ดี 7) ต้องเล่าเรื่องสร้างวิสัยทัศน์ได้ดี และ 8) ต้องเป็นที่ชื่นชอบ ซึ่งจะดึงดูดทั้งคนเก่งและลูกค้า

9. ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าเงินเฟ้อหลายเท่า ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องระวังเรื่อง Disruption

10. สิ่งที่มหาวิทยาลัยให้เพื่อแลกกับเงินและเวลาของคนเรียนคือ 1) ความน่าเชื่อถือ 2) การศึกษา และ 3) ประสบการณ์

11. หัวใจของการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยคือเทคโนโลยี ถ้าทำได้ดีจะประสบความสำเร็จมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าทำได้ไม่ดีก็จะประสบปัญหา

12. การเรียนการสอน Online จะทำให้การศึกษาขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสถานที่ทางกายภาพ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งโอกาสของมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นภัยคุกคามได้เช่นกัน เพราะพวก Big Tech Companies ก็สามารถเข้ามาได้

13. ต่อไปเราอาจจะเห็น MIT ร่วมมือกับ Google ในการให้การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ Carnegie Mellon ร่วมมือกับ Amazon ทางด้าน Computer Science หรือ UCLA ร่วมมือกับ Netflix เรื่องเกี่ยวกับ Entertainment หรือ University of Washington กับ Microsoft ร่วมมือกันเพราะอยู่ในเมืองเดียวกัน เป็นต้น

14. ต่อไปความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจะเกิดระบบพวกพ้องเกิดขึ้น (Cronyism) ต่อไปจะมี Private Disneyland มหาวิทยาลัยดี ๆ จะมีที่สำหรับคนรวยเท่านั้น ฯลฯ

15. บริษัทใหญ่ ๆ จะได้กำไรอย่างมาก แต่คนงานบริษัทนั้นจะได้รับส่วนแบ่งน้อยลงเมื่อเทียบกับการทำงานในบริษัทอื่น ๆ ในอดีต

ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่อ่านได้เพลินและได้ความรู้มากมายครับ ลองไปหาอ่านดูได้ตามร้านหนังสือภาษาอังกฤษในประเทศไทย หรือ eBook ผ่าน Amazon ก็ได้ครับ  https://amzn.to/39D9xa6

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *