ในปัจจุบันนี้ องค์กรมีความต้องการในการพัฒนาผู้บริหารและพนักงานเพื่อให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น องค์กรเหล่านี้ได้ใช้ทั้งเงินและเวลาไปจำนวนไม่น้อยในการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถต่าง ๆ อย่างไรก็ตามบางครั้ง ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี บางครั้งก็ไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรที่ออกแบบมานั้นก็เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ และผู้สอนก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ คำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคืออะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารหรือพนักงานบางคนประสบความสำเร็จหลังจากมีการฝึกอบรมหรือพัฒนา แต่บางคนกลับไม่ค่อยสำเร็จ
ไม่ใช่เฉพาะแค่การทำงาน แม้กระทั่งการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน บางครั้งเราพยายามทำอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และหลาย ๆ ครั้งเราก็มักจะล้มเลิก หรือไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เสมอ หลายคนอาจจะอยากหาสาเหตุว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากอะไร
คำตอบของคำถามเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มที่ชื่อว่า Mindset
หนังสือเล่มนี้ แต่งขึ้นโดย Professor Dr. Carol Dweck ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Stanford โดยเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ก็จะกล่าวถึงเรื่องตามชื่อหนังสือคือ Mindset โดยผู้แต่งได้แบ่ง Mindset ออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ Fixed Mindset กับ Growth Mindset
Fixed Mindset จะเป็นการมองทุกอย่างว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ทุกอย่างมันคงที่ เช่น บางคนคิดว่าเขาเกิดมาไม่ฉลาด ดังนั้นเขาก็จะไม่พยายามพัฒนาปรับปรุงให้ตัวเองมีความรู้มากขึ้น ในขณะที่ Growth Mindset จะคิดกลับกัน โดยจะคิดว่าคนเราสามารถพัฒนาปรับปรุงได้
หนังสือเล่มนี้มีจำนวนหน้าทั้งสิ้น 301 หน้า โดยแบ่งออกเป็น 8 บทหลัก บทแรกจะเป็นบทที่นำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Mindset โดยมีคำถามง่าย ๆ ที่ใช้ทดสอบว่าเราเป็นประเภทที่มี Fixed Mindset หรือ Growth Mindset และมีตัวอย่างของคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset เช่น คนที่พยายามพิสูจน์ว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ กับคนที่มีความคิดแบบ Growth Mindset ที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับอุปสรรคและสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้
บทที่ 2 ในหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Inside the Mindsets ซึ่งได้กล่าวว่าคนทั่วไปเกิดมา พร้อมที่จะเรียนรู้ แต่เรามักจะถูกความคิดแบบ Fixed Mindset มาปิดกั้นการเรียนรู้นั้น เช่น เราอาจจะสนุกกับการเล่นเกมหรือ Puzzle ต่าง ๆ จนกระทั่งเราเริ่มรู้สึกว่ามันยาก และเราอยากล้มเลิก ณ ขณะนั้นเองที่ Fixed Mindset เข้ามาในความคิดของเรา หรือคนส่วนใหญ่มักจะชอบให้คนชื่นชมว่าเราเป็นคนเก่ง แต่กลับไม่ค่อยชอบให้คนวิจารณ์จุดอ่อนของเรา นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ Fixed Mindset
บทที่ 3 ในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับความสามารถและการบรรลุความสำเร็จของเรา เรามักจะชื่นชมคนเก่ง และคิดไปเองว่า คนเก่งเหล่านั้น เป็นอัจฉริยะคือเป็นพรสวรรค์ส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้ว คนที่เก่งมาก ๆ เหล่านั้น ต้องมีการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ดังนั้นคนที่มี Growth Mindset จึงมีความเชื่อว่าความเก่งมันเรียนรู้ได้ และตัวเราก็สามารถพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้เช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันหากเราทำอะไรแล้วล้มเหลว สิ่งนั้นก็ไม่ได้ติดตัวเราไปตลอด เราสามารถปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้เสมอ
บทที่ 4 เป็นเรื่อง Mindset ที่เกิดขึ้นในนักกีฬา เรามักจะเห็นนักกีฬาบางคนพอขึ้นไปเป็นแชมป์แล้ว ไม่สามารถรักษาระดับการเล่นไว้ได้ จึงตกลงมาอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่า มันเกิดจาก Mindset ที่มีลักษณะของ Fixed Mindset ซึ่งเชื่อว่าความสามารถของตัวเองมีอยู่เท่านี้ ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นไปได้อีก ต่างจากนักกีฬาระดับโลกที่อยู่ในอันดับสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน นักกีฬาเหล่านั้นเชื่อว่าความสำเร็จขึ้นกับการเรียนรู้และพัฒนา ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องพยายามขึ้นอีก และ พวกเขาเหล่านั้นก็พยายามอย่างต่อเนื่อง
บทที่ 5 เป็นเรื่องของ Mindset ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ เราจะเห็นผู้นำหลาย ๆ คนที่มีลักษณะของ Fixed Mindset ซึ่งเขาจะพยายามตัดสินว่าคนอื่นทำได้ดีไม่ดีอย่างไร ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ผู้นำเหล่านั้นกลัวว่าตัวเองจะถูกว่ากล่าวในการทำงานนั่นเอง ต่างจากผู้นำที่มี Growth Mindset เขาจะเชื่อในความสามารถของคนอื่นและคิดว่าทุกคนสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เสมอ ผู้เขียนได้สรุปว่าองค์กรควรให้รางวัลจากความพยายามเพื่อจะทำให้เกิดการพัฒนา
บทที่ 6 เป็นเรื่อง Mindset กับชีวิตคู่ หลายคนอาจจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ คนที่มี Fixed Mindset จะคอยโทษคนอื่นตลอดเวลา ส่วนคนที่มี Growth Mindset จะคิดกลับกันคือ เขาจะให้อภัย และเดินหน้าต่อ บทที่ 7 เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครอง ครู หรือ โค้ช ที่จะให้คำแนะนำคนอื่น ๆ ผู้เขียนได้บอกว่าหลายคนชมลูก ๆ ว่า “เก่งจัง เป็นอัจริยะแน่ ๆ “ วิธีการชมเหล่านี้ จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเป็นการชมแบบ Fixed Mindset นั่นคือ จะทำให้เด็กรู้สึกกลัว ไม่กล้าที่จะทำอะไรยาก ๆ เพราะกลัวว่าจะไม่เก่งอีกต่อไป สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือชมเชยในความพยายามของเด็ก ๆ มากกว่า ทำแบบนี้ จะทำให้เด็กอยากทำอะไรที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของการเปลี่ยน Mindset ซึ่งผู้เขียนก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน คนที่มี Fixed Mindset มักจะชอบคิดว่าทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ตัวเขาต้องเปลี่ยน แต่หากเราสามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน Fixed Mindset เป็น Growth Mindset ได้ ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้ เต็มไปด้วยคำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างมาก และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันของเรา หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หลายท่านอาจจะพบว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ อาจจะสะท้อนถึง Fixed Mindset ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมอย่างมากสำหรับทุกคนที่ทำงานในองค์กรธุรกิจ และบุคคลทั่วโป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำคนอื่น ๆ เช่น ครู ผู้ปกครอง หรือ โค้ช หรือแม้กระทั่งคนที่กำลังประสบปัญหาหลาย ๆ อย่างอยู่ การเปลี่ยน Mindset อาจจะเป็นวิธีที่ง่ายและดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรากลับมามีความสุขในชีวิตประจำวันของเราได้
บรรณานุกรม
Dweck, C.S. (2016) Mindset: The New Psychology of Success, New York: Ballantine Books
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
1 Comment
It’s going to be finish of mine day, however bbefore end I am reading this wonderful article to improve my
experience.
my web page – https://elf-Bar.Co.ua