7 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ Man’s Search for Meaning

เมื่อสัก 2-3 สัปดาห์ก่อน เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบไป ชื่อ Man’s Search for Meaning ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 โดย Viktor Frankl ซึ่งเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา

หนังสือเล่มนี้ เล่าประสบการณ์ของคุณหมอ Frankl ซึ่งเป็นชาวออสเตรีย และถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหนังสือเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตในค่าย และมีคนจำนวนมากได้ถูกทรมานรวมถึงเสียชีวิต (ตามที่เราเคยได้ยินกันมาแล้วว่า นาซีเกลียดคนเชื้อชาติยิวมาก ก็เลยจับมาให้ทำงานหนัก ใครทำงานไม่ไหวก็จับมารมก๊าซพิษให้ตายเลย)

คุณหมอ Frankl บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ก็คือ Meaning of Life หรือความหมายของชีวิตนั่นเอง สำหรับคุณหมอแล้ว คุณหมอคิดถึงภรรยา ซึ่งตอนที่คิดก็ไม่รู้ว่า อยู่ที่ไหนเหมือนกัน แต่นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มาจนอยู่รอดได้

ผมอ่านแล้ว ก็เลยนำมาสรุปเป็นข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ 7 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

1. ถ้าเรารู้ว่าเราอยู่ไปทำไม เราจะทนได้เกือบทุกอย่างในโลกนี้

ข้อคิดนี้ เรียกได้ว่าเป็นประโยคทองของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ครับ คือ “ความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิต” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และจะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถทนได้เกือบทุกสถานการณ์ คุณหมอ Frankl เล่าให้ฟังในหนังสือว่า มีนักโทษหลายคนฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เขาน่าจะกลัวที่สุดคือความตายจากทหารนาซี ไม่ใช่เหรอ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ครับ การที่เขาฆ่าตัวตาย มันเป็นเพราะว่า “เขาไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม” หรือพูดง่าย ๆ คือเขาหา Meaning of Life ของเขาไม่เจอนั่นเอง

2. เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมวิธีการคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้

ในโลกนี้ มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างในหนังสือ เราไม่สามารถควบคุมทหารนาซีได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครมาบังคับเราได้ คือ “วิธีการคิด” ถึงสิ่งนั้น คุณหมอ Frankl รู้จักปรับความคิด ทำให้เขาอยู่รอดได้ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสภาพที่โหดร้ายสุด ๆ ชีวิตประจำวันเราก็เช่นกัน เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้ ลองเปลี่ยนวิธีคิดเราดู แล้วเราจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะครับ

3. ไม่มีใครพรากความสุขไปจากเราได้

ของนอกกายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของ หรือแม้กระทั่งคนรัก อาจจะมีใครพรากจากเราไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถมีใครพรากจากเราไปได้คือความสุขของเรา ใช่ครับ เราทำเงินหาย โดนขโมยของ โดนแย่งคนรัก มันอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่ก็อีกนั่นแหละครับ มันคือต้นเหตุ แต่คนที่จะตัดสินใจว่าจะทุกข์หรือสุขกับสิ่งนี้ มันก็คือตัวเราอยู่ดีนั่นแหละ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องโลกสวย มีความสุขตลอดเวลาหรอกนะครับ แต่ลองคิดแบบนี้ดู บางที แทนที่จะไปไขว่คว้า หาของนอกกายมาประดับ ความสุขมันอาจจะเกิดได้จากความคิด ที่เราไม่ต้องเหนื่อยยากอะไรเลยด้วยซ้ำ

4. มนุษย์สามารถทำสิ่งที่โหดร้ายมาก ๆ ได้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว รู้สึกเลยว่า มนุษย์สามารถทำสิ่งที่โหดร้าย อย่างการทรมาน หรือการฆ่าคนได้ อย่างเลือดเย็นจริง ๆ เขานั่งมองเห็นคนทรมาน หรือ เสียชีวิต โดยไม่มีความรู้สึกอะไรเลยเหรอ ส่วนหนึ่งอาจจะระบบที่เขาไม่เรียกชื่อคน คือ ในหนังสือเล่าว่า ในค่ายกักกันนั้น เขาจะให้หมายเลขของแต่ละคน ดังนั้น คนจึงเป็นแค่ตัวเลขตัวหนึ่ง อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรู้สึกถึงความเป็นคน อาจจะหายไป เพราะการที่หมายเลขใด หมายเลขหนึ่งจะหายไป มันก็แทบจะไม่มีความหมายใด ๆ ด้วยซ้ำ มันเลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ง่าย ๆ

5. บางทีคนที่เป็นพวกเดียวกันกลับโหดร้ายมากกว่าคนที่เป็นศัตรูซะอีก

ในหนังสือเล่าให้ฟังว่า ทหารนาซีเขาจะตั้งนักโทษมาเป็นหัวหน้าของนักโทษอีกทีหนึ่ง ที่น่าสนใจคือหลาย ๆ ครั้ง นักโทษที่ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้านี่แหละ ที่โหดร้าย เข้มงวด กับนักโทษด้วยกัน มากกว่าทหารนาซีซะอีก ฟังดูเป็นเรื่องประหลาด แต่หลายครั้งมันก็จริง เราอาจจะเคยเจอคนไทยด้วยกัน ที่ดูถูกกัน มากกว่าชาวต่างประเทศอีกด้วยซ้ำ (ลองไปบางสถานฑูตบางที่ดู อาจจะเข้าใจสิ่งนี้ เจ้าหน้าที่สถานฑูตชาวต่างชาติ ยังเห็นอกเห็นใจ มากกว่า เจ้าหน้าที่คนไทยซะด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้หมายความทุกคน หรือ ทุกที่นะครับ ผมหมายถึงบางแห่งเท่านั้น)

6. เคยลำบากมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรผิดได้

ในหนังสือเล่าถึงช่วงเวลาหลังจากที่ออกจากค่ายกักกันมาได้ว่า นักโทษหลาย ๆ คนกล้าจะทำอะไรผิด ๆ โดยไม่เกรงกลัวถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่คุณหมอ Frankl บอกว่า มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ว่าเราโดนทรมานมามาก ๆ จึงทำให้เราสามารถละเมิดกฎระเบียบต่าง ๆ ได้ แต่มันก็คงเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่นักโทษเหล่านั้น เขาเห็นทุกเรื่องเป็นเรื่องเล็กไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้เจอมา

7. พยายามหา Meaning of Life ให้เจอ

อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ได้ความคิดอย่างหนึ่งคือ Meaning of Life เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันเหมือนเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ และช่วยในการขับเคลื่อนชีวิตเรา Meaning of Life ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นความหวังที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เราสบาย อาจจะเป็นความหวังที่อยากเห็นลูก ๆ ประสบความสำเร็จ หรือ ถ้ากว้างไปกว่านั้น ก็อาจจะเป็นการช่วยเหลือคนทุกข์ยาก ลองมองหาสิ่งนี้ให้เจอ มันจะเป็นเหมือนแหล่งพลังงานพิเศษที่ทำให้เรามีแรงที่จะดำเนินชีวิตได้ต่อไป

นั่นคือบทเรียนที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมได้ยินคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้นานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน และต้องบอกว่า หนังสือเล่มหนึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเราได้จริง ๆ ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

3 Comments

  1. เขียนได้ย่อยย่อมากๆแต่ละประเด็นดีจังครับ ซุ่มอ่านติดตามบลอกคุณมาสักพักแล้ว เจอเล่มนี้ต้องขอมาเม้นท์ และ ขออนุญาต แชร์ครับ

    • ขอบคุณมากครับ ดีใจที่เป็นประโยชน์นะครับ

  2. Thinking


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *