ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสเกี่ยวกับ Startups เกิดขึ้น แต่คำว่า Startups อาจจะยังเป็นคำที่หลายคนมีความเข้าใจผิดหรือสับสนว่าแตกต่างจากคำว่า SMEs อย่างไร ถ้าเราจะว่าไปแล้ว Startups ก็เป็น SMEs ประเภทหนึ่งในตอนที่ก่อตั้ง เพียงแต่ว่าลักษณะเด่นของ Startups คือมันเป็นองค์กรที่มีลักษณะ “ชั่วคราว” กล่าวคือ Startups เป็นองค์กรที่กำลังหารูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสม และ Startups ยังเป็นองค์กรที่มุ่งที่จะสร้างการเจริญเติบโต (Scalable) อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนักเหมือนกับที่ Google Facebook หรือ Uber ทำได้มาแล้ว
.
ปัจจุบันมีหนังสือจำนวนมากที่เขียนถึง Startups แต่หนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในวงการคือหนังสือที่มีชื่อว่า Lean Startup ซึ่งเขียนขึ้นโดย Eric Ries ในหนังสือเล่มดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงวงจรสำคัญที่ Startups ทุกที่จะพบเจอ ได้แก่ Build-Measure-Learn หรือ เริ่มจากการสร้างสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการ วัดผล และเรียนรู้
แต่หนังสือที่กำลังจะแนะนำในบทความนี้ ไม่ใช่หนังสือเล่มดังกล่าว อาจจะเป็นหนังสือที่เรียกได้ว่า จับเอาประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งในหนังสือเรื่อง Lean Startup มาขยายต่อก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Lean Analytics เขียนโดย Alistair Croll และ Benjamin Yoskovitz
.
หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการทำ Startups คือขั้นตอนของการวัดผล (Measure) ซึ่งด้วยลักษณะของ Startups ซึ่งแตกต่างจากองค์กรโดยทั่วไปแล้ว การวัดผลที่เคยถูกนำมาใช้ในองค์กรทั่วไปอาจจะไม่เหมาะสมกับ Startups นัก
.
จากความหนาทั้งหมด 409 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ โดยผู้เขียนใช้ชื่อของแต่ละส่วนดังต่อไปนี้ 1) เลิกโกหกตัวเองได้แล้ว 2) หาตัววัดที่ถูกต้องสำหรับตอนนี้ 3) เส้นที่อยู่บนพื้นทราย และ 4) การนำเอา Lean Analytics ไปใช้งาน
.
ในส่วนแรกที่ผู้เขียนตั้งชื่อว่า “เลิกโกหกตัวเองได้แล้ว” นั้น ประกอบด้วย 4 บท คือบทที่ 1-4 จะว่าไปแล้วในส่วนนี้จะเป็นบทนำที่เป็นที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีต่าง ๆ เช่น Airbnb ที่ประสบความสำเร็จได้จากการนำเอาข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการแบ่งประเภทของตัววัด แนวคิดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เราจะได้รับมา
.
ในส่วนที่ 2 คือ “หาตัววัดที่ถูกต้องสำหรับตอนนี้” จัดได้ว่าเป็น Highlight ของหนังสือเล่มนี้ก็ว่าได้ โดยในส่วนนี้มีทั้งสิ้น 16 บท ตั้งแต่บทที่ 5 จนถึงบทที่ 20 โดยผู้เขียนเริ่มที่จะนำเสนอ Framework ต่าง ๆ ที่ Startups มักจะนำมาใช้วัดผล ยกตัวอย่างเช่น Framework ที่เรียกว่า AARRR ซึ่งมาจากคำว่า Acquisition – Activation – Retention – Revenue – Referral หรือ Framework ของ Eric Ries ผู้เขียนหนังสือ Lean Startup ที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Engines of Growth หรือเครื่องยนต์ที่จะผลักดันให้ Startup เติบโต
.
จากแนวคิดพื้นฐานเหล่านั้น ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “One Metric That Matters” (OMTM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า Startups ไม่มีความจำเป็นต้องวัดอะไรมากมาย เพราะอย่าลืมว่า Startups ยังเป็นองค์กรที่กำลังค้นหารูปแบบทางธุรกิจของตัวเอง สิ่งที่ Startups ต้องการจึงเป็นเพียงแค่ตัววัดเดียว ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ที่จะบอกว่าสิ่งที่ Startups ทำนั้นถูกหรือผิด ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป นอกจากนี้ ตัววัดที่สำคัญต่าง ๆ ของรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยผู้เขียนได้นำเสนอรูปแบบธุรกิจของ Startups ทั้งสิ้น 6 รูปแบบได้แก่ 1) E-Commerce 2) Software as a Service (SaaS) 3) Free Mobile App 4) Media Site 5) User-Generated Content และ 6) Two-Sided Marketplaces
.
นอกเหนือจากรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันแล้ว ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ Startups ย่อมต้องการตัววัดที่แตกต่างกัน โดยผู้เขียนแบ่งขั้นตอนของ Startups ออกเป็น 5 ขั้นตอนย่อยได้แก่ 1) การสร้างความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า (Empathy) 2) การทำให้ลูกค้าติดใจ (Stickiness) 3) การบอกต่อ (Virality) 4) การสร้างรายได้ (Revenue) และ 5) การขยายธุรกิจ (Scale)
.
สำหรับส่วนที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้ คือส่วนที่ผู้เขียนเรียกว่า “เส้นที่อยู่บนพื้นทราย” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อเราทราบตัววัดต่าง ๆ ที่เหมาะสมแล้ว “ค่าของตัววัด” เหล่านั้น จะเป็นเท่าไรที่เรียกได้ว่าขณะนี้เราประสบความสำเร็จแล้ว เหมือนกับการขีดเส้นบนพื้นทรายว่าผ่านไปตรงนี้ถือว่าดี ถ้าต่ำกว่านี้แสดงว่ายังไม่ใช่ โดยในส่วนนี้มีทั้งสิ้น 8 บท ตั้งแต่บทที่ 21 ไปจนถึงบทที่ 28 ผู้เขียนได้นำเสนอค่าเหล่านี้ ตามรูปแบบธุรกิจ Startups ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนที่ 2
.
สำหรับส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือการนำเอาตัววัดเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์นั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้ เช่นการขายในลักษณะขององค์กรสู่องค์กร การใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ (ที่มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น) และสุดท้ายก็เป็นบทสรุปของหนังสือเล่มนี้
.
จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีความครบเครื่องเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการวัดผลในองค์กร Startups โดยหากเป็นผู้ประกอบการ ก็สามารถเลือกอ่านเฉพาะในส่วนของที่เป็นรูปแบบธุรกิจที่ตนเองกำลังดำเนินการอยู่ จุดเด่นอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้เป็นเพียงแค่นำเสนอตัววัดที่สมควรพิจารณาเท่านั้น ยังมีการเสนอแนะค่าเชิงปริมาณต่าง ๆ ที่จะใช้ในการตัดสินใจว่า ณ ขณะนี้องค์กรเราเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
.
ประเด็นเดียวเท่านั้นที่อาจจะมีส่วนทำให้หนังสือนี้ อ่านได้ลำบาก คือการจัดเรียงหัวข้อในหนังสือ ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงรูปแบบทางธุรกิจต่าง ๆ ในส่วนที่ 2 นั้น หากสามารถแทรกเรื่องค่าของตัววัดที่นำเสนอในส่วนที่ 3 เข้าไปด้วยพร้อม ๆ กันในหัวข้อเหล่านั้น อาจจะทำให้จำนวนบทมีน้อยลง และผู้อ่านที่ทำธุรกิจในประเภทนั้น ๆ สามารถที่จะเลือกอ่านบทนั้นเพียงบทเดียว ไม่จำเป็นต้องพลิกหาข้อมูลเพิ่มเติมในบทอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
.
แต่โดยภาพรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังทำ Startups รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการวัดผล Startups และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้วงการ Startups เจริญเติบโตต่อไปในอนาคต
.
บรรณานุกรม
Croll, A. and Yoskovitz, B. (2013) Lean Analytics: Use Data to Build a Better Startup Faster, O’Reilly Media Inc., CA, USA.
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
1 Comment
Thanks in favor of sharing such a fastidious thinking, article is nice, thats why i have read
it fully