ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่สนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรํพย์ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนแพ้เงินเฟ้อ ประกอบกับการมีกระแสที่ต้องการการทำงานที่เป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำงานประจำ หลายคนจึงมีความคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะเป็นคำตอบในชีวิตที่ดีได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดขาขึ้นนั้น เราจะเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการอยากจะลาออกมาซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น เนื่องจากมองดูว่าการทำกำไรในตลาดหุ้นเป็นไปได้ง่าย แค่ซื้อและทิ้งไว้ ไม่กี่วัน หรือ ไม่กี่ชั่วโมง แล้วก็ขาย แค่นี้ก็ทำกำไรได้แล้ว บางคนคิดฝันถึงขนาดที่จะเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ในช่วงเวลาข้ามคืน
จึงไม่แปลก ที่เวลาตลาดขาขึ้นนั้น เราจะเห็นหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะหนังสือที่เน้นการรวยเร็วข้ามวันด้วยการซื้อขายหุ้น หรืออะไรทำนองนี้ ยิ่งเป็นการจุดกระแสให้คนสนใจในตลาดหุ้นมากขึ้น และพร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบเสียก่อน
แต่ตลาดหุ้นไม่ดีมีแต่ขาขึ้นเสมอไป ยามที่ตลาดปรับตัวลดลง บุคคลเหล่านี้ก็มักจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรก ๆ ที่ขาดทุน นอกจากกำไรที่ได้ในช่วงต้นนั้นจะหายไปแล้ว ยังประสบกับการขาดทุนอย่างมหาศาล จนกระทั่งหลายคนต้องออกจากตลาดไปในที่สุด พร้อมกับความรู้สึกเสียใจหรือเจ็บใจ บางท่านอาจจะถึงขนาดเข็ดหลาบกับการลงทุนเลยด้วยซ้ำไป
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนหลายท่าน ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษามาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่เน้นการวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัท หรือที่เรียกกันว่านักลงทุนที่เน้นคุณค่า (Value Investor หรือเรียกสั้น ๆ ว่า VI) หรือนักลงทุนที่เน้นทางด้านเทคนิค อ่านกราฟ ดู Indicator ก่อนตัดสินใจลงทุน หลาย ๆ ท่านก็ประสบกับการขาดทุนไม่น้อยเหมือนกับคนที่ไม่ได้ศึกษามาเช่นกัน
คำถามคือทำไมนักลงทุนเหล่านี้ ซึ่งมีความรู้ในการลงทุนมากทีเดียวกลับต้องมาขาดทุนหรือล้มเหลว เช่นเดียวกับนักลงทุนหน้าใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่ได้ศึกษาการลงทุนมาดีพอ หรือยังไม่มีประสบการณ์ คำตอบง่าย ๆ สำหรับคำถามนี้คือความสำเร็จในการลงทุนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1) ความรู้ 2) โอกาส และ 3) ทัศนคติของนักลงทุน
สำหรับข้อแรกนั้น เราจะพบว่ามีหนังสือจำนวนมากที่พยายามจะให้ความรู้ในการลงทุนกับเรา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เน้นการวิเคราะห์ทางด้านพื้นฐาน หรือ ทางด้านเทคนิคของหุ้น เมื่อเราศึกษามาก ความรู้เราก็จะมากตาม ส่วนข้อที่ 2 นั้น มันเกิดขึ้นจากตลาดหุ้นเอง เช่น หุ้นขาขึ้น ถึงไม่มีความรู้อะไร ซื้อแบบสุ่มเอาก็อาจจะได้กำไรอยู่ดี แต่สำหรับข้อที่ 3 นั้น ต้องบอกว่ามีหนังสือจำนวนน้อยมากที่จะกล่าวถึง ความคิดที่ถูกต้องในการลงทุน
หนังสือเล่มหนึ่ง ที่อธิบายปรากฏการณ์ด้านจิตวิทยาในการลงทุนได้ดีมากคือหนังสือที่มีชื่อว่า Investing Psychology: The Effects of Behavioral Finance on Investment Choice and Bias เขียนโดย Tim Richards ซึ่งเป็นเจ้าของ Website ที่ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุน หนังสือเล่มนี้มีความหนาทั้งสิ้น 240 หน้า แบ่งออกเป็น 9 บท เริ่มบทแรกจะกล่าวถึงความลำเอียงที่เกี่ยวกับความรู้สึกของเรา เช่นความลำเอียงที่เราคิดว่าตัวเราไม่ลำเอียง การมองเห็น Pattern ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันไม่มี ความรู้สึกว่าเราควบคุมตลาดได้ ทั้ง ๆ ที่ในความจริงเราไม่สามารถทำได้
สำหรับบทที่ 2 จะกล่าวถึงความลำเอียงที่เกี่ยวกับคุณค่าของตัวเราเอง เช่นความกลัวในการสูญเสีย การยึดติดกับสิ่งที่เรายังจำได้ เป็นต้น ส่วนบทที่ 3 จะเป็นความลำเอียงที่เกี่ยวกับสถานการณ์ เช่นความเชื่อในเรื่องราวต่าง ๆ หรือความพยายามในการจับจังหวะของตลาด บทที่ 4 จะเน้นเรื่องเกี่ยวกับความลำเอียงทางสังคม เช่น การที่เราตามความคิดของกลุ่ม หรือการตกหลุมพรางในกรอบความคิด
บทที่ 5 จะกล่าวถึงความลำเอียงที่เกิดขึ้นกับมืออาชีพ เช่นความลำเอียงที่เกี่ยวกับการทำนายตลาด หรือเกี่ยวกับหุ้นที่ออกใหม่ (IPO) ส่วนบทที่ 6 จะเป็นการแนะนำวิธีในการลดความลำเอียงลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามมาด้วยบทที่ 7 ที่กล่าวถึงข้อแนะนำ 7 ประการในการลงทุนที่ถูกต้อง สำหรับบทที่ 8 ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเชื่อ
ผิด ๆ หลายประการที่ยังคงอยู่ในการลงทุน ส่วนบทสุดท้าย ก็เป็นบทสรุปของหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีไม่มากนักในตลาดที่ได้กล่าวถึงความลำเอียงในการตัดสินใจลงทุนในหลาย ๆ ประเภท และเป็นหนังสือที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว เนื่องจากความลำเอียงในการตัดสินใจเหล่านี้เองที่ทำให้นักลงทุนหลายคนประสบความล้มเหลว ถึงแม้นักลงทุนหลายท่านก็มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน แต่ก็ยังมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความลำเอียงนี้เอง
จุดเด่นที่สุดของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอาบทวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุนและนำเสนอในภาษาที่ง่ายในการทำความเข้าใจ และในตอนท้ายของทุกบทยังได้มีการสรุปประโยชน์ที่ได้จากการอ่าน 7 ประการซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถทราบถึงจุดเน้นของแต่ละบทและนำไปใช้ตัดสินใจในการลงทุนได้ต่อไป
สิ่งเดียวที่อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากในการอ่านคือหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาค่อนข้างมาก และอาจจะต้องใช้เวลาอ่านพอสมควร อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่ชอบการอ่านที่สามารถจบได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกทางหนึ่งเนื้อหาที่มากนี้ก็เต็มไปด้วยงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งความคิดเห็นของผู้เขียนที่ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนทุกท่านที่ต้องการความสำเร็จในการลงทุนในตลาดหุ้น
บรรณานุกรม
Richards, T. (2014) Investing Psychology: The Effect of Behavioral Finance on Investment Choice and Bias, John Wiley & Sons, New Jersey.
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!