ต้องเริ่มเล่าว่าผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาเนื่องจากผมติดตามผลงานของอาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี มาได้สักพักแล้ว และได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์เป็นการส่วนตัว
อาจารย์ณัฐวุฒิดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขที่ Warwick Business School และมีผลงานเป็นหนังสือภาษาไทยหลาย ๆ เล่ม ที่ผมได้อ่าน พอทราบว่าอาจารย์มีผลงานเป็นหนังสือภาษาอังกฤษด้วย จึงไม่ลังเลที่จะอ่าน
เล่มนี้เป็นเล่มที่ 2 ที่ผมอ่านงานของอาจารย์ โดยเล่มนี้อาจารย์เขียนกับ อาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์
Style ของหนังสือเล่มนี้ ผมว่าคนที่มาแนวสายวิจัยน่าจะชอบ แต่ถ้าใครแนว How to หน่อย อาจจะอ่านยากหน่อย เพราะจะมีศัพท์ทางด้านสถิติอยู่ตลอดทั้งเล่ม แต่ส่วนตัวผมชอบนะครับ คือมันจะไม่ใช่คำแนะนำลอย ๆ แต่มันมาจากผลวิจัยที่ส่วนใหญ่ อาจารย์ทำเอง
เอาเป็นว่า ผมเอามาสรุปเป็นข้อ ๆ บอกก่อนนะครับว่า ไม่ได้ครอบคลุมทั้งเล่มครับ เลือกอันที่ผม Highlight ไว้ เพราะน่าสนใจครับ
1. ในเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเฉลี่ยแล้วคนรวยมีความสุขมากกว่าคนจน
2. แต่ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศนั้น กลับพบว่า การที่คนรวยขึ้น ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มมากขึ้น
3. คนเรามักจะเปรียบเทียบรายได้กับคนที่เราสามารถเปรียบเทียบได้ (เช่น เพื่อนร่วมงาน พี่น้อง)
4. การศึกษาส่งผลต่อความสุขของคน แต่คล้ายกับเรื่องรายได้ เราก็มักจะเปรียบเทียบระดับการศึกษาของเรากับคนที่เรารู้จักเช่นกัน
5. จากงานวิจัยพบว่า ใน 25 ปีที่ผ่านมา เงินที่เราลงทุนไปในบริษัทที่ติดอันดับ 100 บริษัทที่คนอยากทำงานด้วย จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ ถึง 50%
6. การตกงานเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมากกว่าประสบการณ์อื่น ๆ และเราไม่สามารถจะปรับตัวเข้ากับสิ่งนี้ได้ มันจะเหมือนเป็นแผลเป็นทางจิตวิทยาของเรา
7. ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดส่วนบุคคลส่งผลอย่างมากกับความสุขของเรา
8. การที่เรามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเท่าหนึ่ง จะทำให้ความสุขเราเพิ่มขึ้น 0.2 หน่วย (จาก Scale 0-10) และคนเราสนใจรายได้เชิงเปรียบเทียบมากกว่า ตัวรายได้เอง
9. การตกงานจะทำให้ความสุขเราลดลง 0.7 หน่วย (จาก Scale 0-10) และจะสร้างความกลัวและความไม่สบายใจกับคนที่ทำงานอยู่ โดยการที่เพื่อนร่วมงานเราตกงาน จะทำให้ความสุขของคนที่ทำงานอยู่ลดลง 2 หน่วย
10. การที่เรามีคู่จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น 0.6 หน่วย เมื่อเทียบกับการอยู่คนเดียว ในทางกลับกัน การสูญเสียคู่ของเราทำให้ความสุขเราลดลงในปริมาณที่เท่ากัน
11. ความซึมเศร้าหรือความกังวลใจเกิดขึ้นบ่อยกว่าการตกงาน และลดความสุข 0.7 หน่วย
12. การได้เรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ปีจะทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้นทางตรง 0.03 หน่วย แต่จะส่งผลทางอ้อมผ่านรายได้และสุขภาพจิต
13. เมื่อเราอายุเยอะขึ้น ความเหงาจะส่งผลต่อความสุข ถ้าความเหงาเพิ่มขึ้นด้วยขนาด 1 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความสุขจะลดลง 0.5 หน่วย (บอกแล้วครับว่าศัพท์สถิติตลอดเล่ม 555)
14. ความเชื่อถือคนอื่นทำให้เกิดความสุข ถ้าเราเชื่อคนอื่นจาก 0% ไปเป็น 100% ความสุขเราจะเพิ่มขึ้น 1 หน่วย
15. ถ้ารายได้ของคนในประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้น ความสุขของคนประเทศนั้นจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้าคนหนึ่งรายได้เพิ่ม ถึงแม้เขาจะมีความสุขเพิ่ม แต่อีกคนที่ไม่ได้รายได้เพิ่มจะมีความสุขลดลง
16. ความสุขของเด็กขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของแม่ และสิ่งนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก แต่ถ้าเป็นเรื่องของผลการเรียน ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลคือรายได้และการศึกษาของผู้ปกครอง
17. ประเทศที่โดยรวมมีความสุขมากที่สุดในโลกคือประเทศ Denmark (คะแนน 7.5 เต็ม 10) และน้อยที่สุดได้แก่ซีเรีย (คะแนน 3.4) และ Central African Republic (คะแนน 2.7)
18. สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในเรื่องความสุขคือความสัมพันธ์กับสังคมรวมถึงสุขภาพกายกับสุขภาพจิตของเรา
19. ปัญหาที่แย่ที่สุด ไม่ใช่เรื่องความยากจนหรือการตกงาน แต่เป็นเรื่องสุขภาพจิตที่ย่ำแย่
20. ประเทศควรให้ความสำคัญในการสร้างสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) มากกว่าการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth)
ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลที่แน่นมาก ๆ เล่มหนึ่งเกี่ยวกับความสุขเลยครับ ใครสนใจลองหาอ่านได้ครับ ผมซื้อ Ebook จาก Amazon ลองดูตาม Link นี้ได้ครับ https://amzn.to/31hZjtn
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!