ในการดำเนินธุรกิจนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จมักจะหนีไม่พ้นเรื่องของความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ ทัศนคติที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “โชค” หรือจะเรียกว่าเหตุบังเอิญที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจนั้น ๆ คนส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจว่า ความรู้ กับ ทัศนคติ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถจัดการได้ เช่น หากยังมีความรู้ไม่เพียงพอก็ไปศึกษาเพิ่มเติม หรือหากทัศนคติยังไม่ถูกต้อง ก็ต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะจากผู้มีประสบการณ์มากกว่า หรือ การให้ผู้รู้แนะนำวิธีการคิดหรือการมองปัญหา แต่คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า “โชค” หรือ “ดวง” นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ซึ่งเราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย
อย่างไรก็ตามความเชื่อดังกล่าวอาจจะไม่เป็นความจริงทั้งหมด มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า จริงอยู่ว่า “โชค” นั้นอาจจะเกิดจากเหตุบังเอิญและเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่มันยังมีหลายสิ่งของโชคที่เราสามารถควบคุมได้
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า How Luck Happens: Using the science of luck to transform work, love, and life แต่งโดย Janice Kaplan ซึ่งเป็นบรรณาธิการวารสารชั้นนำและเป็นนักเขียนหนังสือชื่อดังในหลาย ๆ เล่ม ร่วมกับ Barnaby Marsh ซึ่งเป็นนักวิจัย นักวิชาการจาก Harvard และ Princeton ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงโชคไว้ว่า มาจาก 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถ การทำงานหนัก และ เหตุบังเอิญ จะเห็นได้ว่า 2 ใน 3 อย่างนี้ (ความสามารถ และ การทำงานหนัก) เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ มีแต่เหตุบังเอิญเท่านั้นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ด้วยความรู้นี้ จึงทำให้เราสามารถเข้าไปจัดการ “โชค” ได้ในสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้มีทั้งสิ้น 341 หน้า แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ๆ โดยส่วนแรกจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ความรู้ความเข้าใจในคำว่า “โชค” โดยประกอบด้วย 3 บทย่อยได้แก่ บทแรก การเตรียมตัวให้เรามีโชค บทที่ 2 กล่าวถึงบางคนที่มักจะ “มีโชค” อยู่เสมอว่าเขาทำอย่างไร และ บทที่ 3 คือการเลือกพิจารณาค่าสถิติต่าง ๆ
Highlight ของหนังสือเล่มนี้ น่าจะอยู่ในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นการบอกถึงวิธีในการสร้างโชคให้กับตัวเอง โดยจะประกอบด้วย 6 บทย่อยได้แก่ บทที่ 4 คือเทคนิคที่ตัวเราควรจะไปอยู่ในที่ที่เรามีโอกาสจะมีโชคมากที่สุด เช่น ในหนังสือแนะนำว่า หากอยากจะเป็นดารา Hollywood เราก็ควรย้ายถิ่นฐานไปอยู่แถบ Hollywood ไม่ใช่ไปอยู่ในป่าในเขา เพราะการอยู่ในที่ที่ผู้กำกับหรือดาราอยู่กันนั้น มันเป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวเองที่จะไปรู้จักกับคนในวงการมากกว่า บทที่ 5 กล่าวถึงเทคนิคในการสร้างเครือข่าย โดยหนังสือให้คำแนะนำว่า โชค มักจะมากับผู้คน ดังนั้น เราควรจะไปงานงานเลี้ยงสังสรรค์บ้าง ไปพบเจอผู้คนบ้าง ใครจะไปทราบว่าคนเหล่านั้น อาจจะรู้จักกับคนที่เราอยากจะรู้จักก็เป็นไปได้
บทที่ 6 กล่าวถึงเทคนิคสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับตัวเรา เพราะหากเรายังทำตัวเหมือน ๆ กันกับคนอื่น เราก็จะไม่โดดเด่น โอกาสที่เราจะได้รับโอกาสดี ๆ ก็อาจจะน้อยกว่าคนที่ทำอะไรแตกต่างจากคนอื่น บทถัดมาคือบทที่ 7 กล่าวถึง เทคนิคการสร้างความมุมานะและความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ เนื่องจากการที่เราต้องการที่จะมีโชคนั้น จะทำอะไรเพียงครั้งเดียวแล้วหวังว่าจะสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ซึ่งหลายคนอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากขาดความมุมานะ และ ความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ
บทที่ 8 กล่าวถึงเทคนิคการกระจายความเสี่ยง การทุ่มเททุกอย่างไปที่เดียว แล้วหวังว่าสิ่งนั้นจะสำเร็จอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เราควรจะมีแผนสำรองไว้ด้วย ในหนังสือได้ยกตัวอย่างการลงทุนใน Startup ซึ่งปกติแล้วอัตราความล้มเหลวจะสูงมาก หากเราเลือกลงทุนไปที่ใดที่หนึ่งที่เดียว โอกาสความสำเร็จจะต่ำ นักลงทุนใน Startup ที่ประสบความสำเร็จ จึงกระจายการลงทุนในหลาย ๆ บริษัทที่เขาคิดว่ามีศักยภาพ และในที่สุดหนึ่งในนั้นอาจจะประสบความสำเร็จมาก ๆ และถึงแม้ว่าบริษัทที่เหลืออาจจะล้มละลายไปหมด เขาก็ยังประสบความสำเร็จอยู่ดี และคนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเขาเป็นคนโชคดี
บทที่ 9 เป็นการบอกถึงเทคนิคที่บอกว่าความสำเร็จนั้น มันไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์เดียว แต่มันเกิดจากความพยายามอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ในหนังสือได้ยกตัวอย่างของการค้นพบยาปฏิชีวนะของ Alexander Fleming ซึ่งตามเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่ได้ทราบมันเกิดจากเหตุบังเอิญที่เขาลืมทิ้งจานทดลองไว้แล้วมีราขึ้น เขาจึงเห็นว่าราสามารถกำจัดแบคทีเรียได้ แต่ที่จริงแล้ว เหตุการณ์เพียงแค่นั้นมันยังไม่เกิดยาปฏิชีวนะขึ้นได้ทันที ทีมวิจัยของ Alexander Fleming ยังต้องมีความพร้อมและมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสร้างยาปฏิชีวนะขึ้นมาได้
ในส่วนที่ 3 ของหนังสือเป็นการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องโชคในเรื่องต่าง ๆ เช่น โชคในการหางาน (บทที่ 10) โชคในความรัก (บทที่ 11) และการสร้างโชคให้กับเด็ก ๆ (บทที่ 12) ส่วนที่ 4 ของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของโชค ได้แก่ การเปลี่ยนโชคร้ายให้กลายเป็นโชคดี (บทที่ 13) เรื่องเกี่ยวกับโชคและการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง (บทที่ 14) และเรื่องเกี่ยวกับโชคและมหันตภัยต่าง ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและเรื่องอื่น ๆ (บทที่ 15) ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ จะเป็นเรื่องภาพรวมของทั้งหมด ประกอบด้วย 2 บท ได้แก่บทที่ 16 ซึ่งกล่าวถึง เส้นทางก็การนำเราไปสู่โชคดี และบทสุดท้ายคือเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับโชค โดยเราต้องเชื่อว่าเราสามารถสร้างโชคดีให้เกิดขึ้นกับเราได้
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องโชคไว้ได้อย่างครบถ้วน และมีตัวอย่างประกอบที่ชัดเจน ถึงแม้หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้เป็นหนังสือที่เน้นในเชิงบริหารธุรกิจมากนัก แต่ต้องยอมรับว่า “โชค” นั้นเป็นตัวแปรสำคัญในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งรวมถึงในเรื่องธุรกิจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้แต่งขึ้นด้วยความเห็นของผู้แต่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการทำงานวิจัยและอ้างอิงงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ตลอดจนบุคคลทั่วไป ที่แต่ละวันจะต้องพบเจอกับ “โชค” ต่าง ๆ ซึ่งหากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ทัศนคติที่เกี่ยวกับโชคของเขาอาจจะเปลี่ยนไป และอาจจะช่วยทำให้เขามีโอกาส “โชคดี” ได้ในที่สุด
บรรณานุกรม
Kaplan, J. and Marsh, B. (2018) How luck happens: Using the science of luck to transform work, love, and life, New York: Penguin Random House.
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!