8 กฏของ The Passion Economy

หนังสือเล่มนี้ซื้อมาเพราะชื่อเลยครับ คือส่วนตัวทำรายการ Weekend Entrepreneur ในช่อง Nopadol’s Story Podcast ก็เลยอยากหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการทำอะไรตาม Passion ของตัวเอง

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Adam Davidson ซึ่งเป็น Podcaster และ Cofounder ของ NPR’s Planet Money ในหนังสือมีตัวอย่างของ Passion Economy จำนวนมาก แต่ที่ชอบที่สุดคือเขามีกฏของ Passion Economy 8 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

1. ทำตาม Passion ของเราให้เต็มที่

หา Passion ของเราให้เจอ เสร็จแล้วพยายามจับคู่สิ่งที่เป็น Passion ของเรากับคนที่ต้องการ และรับฟัง Feedback จากคนเหล่านั้นให้ดี

2. สร้างสิ่งที่คนทำตามได้ยาก

อย่าไปทำอะไรตามคนอื่น ลองสร้างคุณค่าที่คนอื่นสามารถทำตามได้ยาก เราไม่ต้องพยายามทำอะไรที่คนจำนวนมากอยากได้ ให้เลือกกลุ่มลูกค้าและสร้างคุณค่าให้กับคนกลุ่มนั้นมากที่สุด

3. ตั้งราคาตามคุณค่าที่เราให้

การตั้งราคาไม่ใช่เริ่มจากต้นทุนแต่ให้เริ่มจากคุณค่าแล้วค่อยไปจัดการต้นทุนทีหลัง โดยคุณค่าจะเกิดขึ้นจากการสื่อสาร การให้บริการ ระวังอย่าใช้การเปรียบเทียบราคากับคู่แข่ง พยายามตั้งราคาให้สูงแต่ก็ต้องให้คุณค่าที่สูงตาม นอกจากนี้ในหลายครั้งอาจจะตระหนักรู้ว่า รายได้ที่เป็นตัวเงินอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่เราต้องการ แปลว่าบางทีเราอาจจะอยากสร้างความสัมพันธ์หรือ Profile ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้รายได้ไม่เยอะนัก เราก็อาจจะทำงานนั้นก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้เราสามารถปรับราคาได้เสมอ แต่ไม่ใช่ปรับหลังจากตกลงราคากันแล้ว และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ เราก็มีการตั้งราคาเหมือนกัน ซึ่งมันคือเงินเดือนของเรานั่นเอง สุดท้ายแล้วบททดสอบง่าย ๆ ว่าเราตั้งราคาแล้วมันเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องถามตัวเองว่าเรารู้สึกดีหรือไม่ จำไว้ว่าการตั้งราคาต่ำไม่ได้เป็นกลยุทธ์ที่ดีเสมอไป ราคาที่เราตั้งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าที่เรานำเสนอ

4. มีลูกค้าที่รักเรามาก ๆ จำนวนน้อยดีกว่ามีลูกค้าที่รักเราน้อย ๆ จำนวนมาก

พยายามคัดเลือกเฉพาะลูกค้าที่ “ใช่” จริง ๆ แต่ให้ใช้เวลาคัดเลือกอย่าตัดสินเร็จจนเกินไป และจริง ๆ แล้วลูกค้าที่ “ใช่” มักจะมาหาเราเอง ความชอบของเรา การตั้งราคา คุณค่าที่เราให้ และลูกค้าที่ “ใช่” จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องเดียวกันที่มองคนละมุมเท่านั้นเอง

5. Passion คือเรื่องราว

จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการ แต่เราขาย “เรื่องราว” ให้เราพูดแต่ความจริง แต่ให้เล่าเรื่องราวที่มาที่ไป (ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้เก่งในการเล่าเรื่องราวก็ตาม) เรื่องราวที่เราเล่าจะสะท้อนถึง Passion ในการทำธุรกิจของเรา และจะทำให้คนสนใจ

6. ใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนธุรกิจ ไม่ใช่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ

พยายามเลือกทำในสิ่งที่เทคโนโลยีและบริษัทใหญ่ ๆ ทำไม่ได้ หลายครั้งโอกาสของธุรกิจแบบ Passion Economy เกิดขึ้นก็เพราะบริษัทใหญ่ ๆ เลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์กับคนจำนวนมาก ทำให้มีหลายคนที่อาจจะมีความต้องการบางอย่างที่บริษัทเหล่านี้ตอบโจทย์ไม่ได้ การทำธุรกิจของเราไม่ควรเน้นความใหญ่ แต่ควรจะเน้นความเล็กเพื่อความได้เปรียบนี้

7. รู้จักธุรกิจที่เราทำซึ่งมันอาจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยคิด

ศึกษาธุรกิจที่เรากำลังทำให้เรารู้จักอย่างถ่องแท้ และถ้าธุรกิจนั้นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนให้เราทำการปรับเปลี่ยนการตั้งราคาทันที หรือค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนคุณค่าที่เรานำเสนอเพื่อให้ตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป

8. อย่าไปทำธุรกิจแบบ Commodity ถึงแม้ว่าเราจะขายสินค้าที่คนทั่วไปคิดว่าเป็น Commodity

Commodity คือสินค้าที่มีลักษณะเหมือน ๆ กัน ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย อย่าไปทำธุรกิจแบบนั้น ถึงแม้ว่าเราจะขายสินค้าที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีความแตกต่าง แต่เราควรจะต้องสร้างความแตกต่างให้เจอ

นี่คือกฏ 8 ข้อที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจแบบ Passion Economy หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอกฏ 8 ข้อนี้ และก็มีกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นการทำตามกฏเหล่านี้ตลอดทั้งเล่ม ลองหาอ่านกันได้ครับ

อ่าน eBook โดยซื้อผ่าน Amazon ได้ที่ https://amzn.to/39dSX1I หรือหากต้องการซื้อเป็นเล่ม ผมจำได้ว่าซื้อมาจาก Kinokuniya ครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *